ติดกับ “ตู่”? [ในประเทศ]

เหตุการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีโอกาสพูดคุยทางโทรศัพท์กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นเวลา 5 นาที เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560

โดยในการสนทนา นอกจากประธานาธิบดีสหรัฐจะชื่นชมประเทศไทย เนื่องจากมีเพื่อนเป็นคนไทยหลายคนและรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดีแล้ว

นายทรัมป์ ยังได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเยือนอเมริกาด้วย

ท่าทีเป็นมิตรดังกล่าว ต่างจากคำแถลงเมื่อ 3 ปีก่อนของรัฐบาลโอบามา

ที่ตำหนิการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนโดยคณะรัฐประหาร

และประกาศแขวนงบฯ ช่วยเหลือทางทหาร มูลค่าราว 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

พร้อมกับการลดอันดับประเทศไทยไปอยู่ใน “เทียร์ 3” หรือกลุ่มประเทศที่ไม่มีความก้าวหน้าและความพยายามใดที่ชัดเจน ในรายงานประจำปีว่าด้วยสถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลก

ทำให้สัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอย่างเย็นชา

แต่บรรยากาศเช่นนั้น ผ่อนคลายลง หลังมีการสนทนาทางโทรศัพท์ของ 2 ผู้นำ

โดยมีการวิเคราะห์ว่า ที่นายทรัมป์ยอมมองข้ามค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้น

ก็เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของอเมริกา ท่ามกลางภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ และความสำคัญของจีนที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Vice President Mike Pence (L) and Speaker of the House Paul Ryan (R) listen as US President Donald J. Trump (C) delivers his first address to a joint session of Congress from the floor of the House of Representatives in Washington, DC, USA, 28 February 2017. / AFP PHOTO / EPA POOL / JIM LO SCALZO

จึงยอมยื่นมือออกมาให้ผู้นำไทยจับ

ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมป็นเรื่องอันน่ายินดีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการการยอมรับจากมหาอำนาจโลกอย่างสูงอยู่แล้ว

จึงมีการตอบรับคำเชิญไปเยือนสหรัฐอย่างกระตือรือร้น

มีการชั่งน้ำหนักระหว่าง 2 ประเทศ คือไทยและสหรัฐ ใครได้มากกว่ากัน

ปรากฏว่าทุกฝ่ายมองไปในทางเดียวกัน นั่นคือไทยมีแต่ได้กับได้

ขณะที่แม้สหรัฐจะได้พวกเพื่อถ่วงดุลกับจีนและเกาหลีเหนือ

แต่ก็ต้องสูญเสียหลักการสำคัญของตนเองไป

นั่นคือ “ค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” ที่สหรัฐปกป้องและเชิดชูอย่างสูงมาโดยตลอด

จนมีการพูดถึงขนาดว่า

นายทรัมป์ “ติดกับ” พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร เสียแล้ว!!

ด้วยการประเมิน ที่มีแต่ได้กับได้

จึงทำให้ฝ่ายไทยเตรียมการเพื่อไปสหรัฐอย่างมีความหวังในทาง “บวก”

โดยคาดหมายว่าการไปเยือนสหรัฐ จะเกิดในช่วงวันที่ 19 กรกฎาคม หรือไม่ก็ปลายเดือนกรกฎาคมนี้

ด้วยความหวังที่จะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกากลับคืนมา

พล.อ.ประยุทธ์ จะย้ำถึงความจำเป็นที่ คสช. ต้องเข้ามาบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์ในประเทศเกิดความขัดแย้ง

และเมื่อประเทศอยู่ในภาวะปกติ รัฐบาล คสช. ก็พร้อมที่จะคืนอำนาจให้ตามโรดแม็ปด้วยการเลือกตั้งในปี 2561

ยิ่งไปกว่านั้น มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้กองทัพสำรวจบัญชียุทโธปกรณ์ที่รัฐบาลจัดซื้อกับสหรัฐ

อาทิ เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง เอฟ-5 เอฟ-16 แบล๊กฮอว์ก ลาโคต้า และอาวุธปืนตระกูลเอ็ม เอ 1 เอ 2 เอ 4 และอาวุธปืนล่าสุดตระกูลเอ็มโฟร์ นอกจากนี้ ยังมีรถถัง อาทิ เอ็ม 41 เอ็ม 48 เอ็ม 60 และรถถังสติงเรย์ รถฮัมวี่ รถจี๊ป รถบรรทุกขนาด 2.5 ตัน

ซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ เป็นอาวุธพื้นฐานมาจากกองทัพสหรัฐอเมริกา

โดยไทยหวังว่านายทรัมป์ที่ให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจและการค้า จะยอม “ขาย” และสนับสนุนอาวุธเหล่านี้ให้ไทย โดยไม่ติดเงื่อนไขการรัฐประหาร

ทั้งนี้ ความต้องการแรกๆ ที่กองทัพไทยต้องการคือ การซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล๊กฮอว์กอีก 4 เครื่อง ให้ครบ 1 ฝูงบิน จำนวน 16 เครื่อง ซึ่งสหรัฐได้อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว แต่มาหยุดชะงัก หลังเกิดการรัฐประหาร

จึงมีความหวังอย่างสูงว่า หลังการไปเยือนสหรัฐ โครงการนี้จะฟื้นชีพขึ้นมา

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ก็ดูจะมีความหวังในเชิงบวกอย่างสูง กับการจะเดินทางไปสหรัฐ

โดยได้กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา” เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า

“วันนี้โลกภายนอกเขาไม่ค่อยมีปัญหา หรือจะสนใจกับในเรื่องของการบริหารจัดการ ที่มาของรัฐบาลมากนัก

ก็มีการทำความเข้าใจกันอยู่บ้าง แต่เขาให้ความสนใจกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

เพราะหากไม่มีเสถียรภาพ การค้า การลงทุน หรือเศรษฐกิจ ก็จะหยุดชะงัก

ในโลกจึงมีทั้งประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งสังคมนิยม บางประเทศยังเป็นรัฐบาลทหาร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ในแต่ละประเทศ

ซึ่งทุกคนก็ต้องสร้างความเข้าใจ ว่าเราทำเพื่ออะไรกันอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่ไปฟังนักการเมืองที่มุ่งหวังแต่เพียงการเมืองอย่างเดียว หวังผลทางการเมือง เราต้องเร่งรักษาความสงบเรียบร้อยให้ได้จากภายในเสีย”

แม้จะไม่ได้พูดถึงสหรัฐโดยตรง

แต่ “ความ” ระหว่างบรรทัด ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จะมั่นใจว่า ต่างประเทศซึ่งก็น่าจะหมายถึงสหรัฐ เริ่มที่จะไม่ให้ความสนใจ “ที่มาของรัฐบาล” แล้ว

จึงน่าจะทำให้ไทยมีที่ยืนในเวทีนานาชาติมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความหวังอันเต็มเปี่ยมดังกล่าว

เริ่มมีกระแสข่าวลอยลมออกมาว่า การพบปะกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับนายทรัมป์ อาจจะไม่มีขึ้นแล้ว

ซึ่งก็สอดประสานกับความไม่คืบหน้าในการเตรียมการ จนทำให้วันเวลาที่วางไว้คือ 19 กรกฎาคม จะมีการพบปะกันของผู้นำทั้ง 2 ประเทศนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะสหรัฐไม่ได้แสดงความพร้อมใดๆ ให้เห็นเลย

กระแสข่าวจึงแพร่สะพัดออกมา การพบปะของ 2 ผู้นำอาจจะไม่เกิดขึ้น

ร้อนถึง พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาชี้แจงว่า ขณะนี้มีการประชุมระดับยุทธศาสตร์ระหว่างปลัดกระทรวงกลาโหมกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งไทยและสหรัฐอยู่ โดยเมื่อเสร็จจากคณะนี้ ไทยและสหรัฐก็จะกำหนดวันเวลาในการหารือระหว่างผู้นำอีกครั้ง เนื่องจากจะต้องนำผลการประชุมระดับยุทธศาสตร์มาเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมระดับผู้นำอีกครั้ง

“ยืนยันว่าคำเชิญของสหรัฐที่เชิญไทยไปร่วมประชุมยังมีอยู่ ไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าเป็นช่วงไหนเวลาใด เนื่องจากการประชุมเป็นการประชุมระดับผู้นำ จำเป็นจะต้องมีการเตรียมพร้อมทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็ยืนยันมาว่าคำเชิญของสหรัฐก็ยังมีอยู่” พล.ท.วีรชนระบุ

สอดคล้องกับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่ปฏิเสธข่าวการยกเลิกการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ไม่เป็นความจริง ส่วนกำหนดการเดินทางไปในวันที่ 19 กรกฎาคมนั้น เป็นเรื่องที่พูดกันไว้ตั้งแต่แรก แต่ยังไม่ได้ตกลงกัน และเหตุที่ยังไม่สามารถกำหนดวันได้ เพราะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดีทุกเรื่องเพื่อให้การพบปะกันราบรื่น ประสบความสำเร็จทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงกันว่าจะไม่เร่งร้อน

“อีกไม่กี่วันปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศจะมีการหารือกันเรื่องความพร้อม ส่วนจะมีความชัดเจนขึ้นหรือไม่ต้องแล้วแต่เขาคุยกัน แต่ในช่วงเดือนสิงหาคมคงไม่ได้ เพราะเป็นช่วงพักร้อนของชาติตะวันตก และตอบไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้หรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่าความรีบร้อนอะไรนั้นไม่มี ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการเตรียมการของฝ่ายเรา ไม่ใช่เร่งรีบ ฉุกละหุกจนตกหล่นไม่สมบูรณ์ ในอดีตมีประเภทนี้อยู่เยอะ จึงไม่อยากให้มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” นายดอนระบุ

และย้ำว่า ที่มีการมองว่าสหรัฐไม่จริงใจกับไทยในการเชิญครั้งนี้นั้น ไม่จริง และไม่ได้เป็นการเชิญตามมารยาท เพราะเขาพยายามจะคุยด้วยอย่างดียิ่ง

“เรารับรู้ได้ว่าเขาขมีขมันมาก” นายดอนกล่าว

แต่ดูเหมือน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะไม่มองอย่างนั้น

โดยตั้งข้อสังเกตว่า การที่สหรัฐไม่ยืนยันวันที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์พบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการ ตามคำเชื้อเชิญนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะหลังจากที่นายทรัมป์เข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน สหรัฐก็มีเหตุการณ์ตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ จึงต้องการแรงสนับสนุนจากไทยและแรงสนับสนุนในเวทีผู้นำอาเซียน ซึ่งรัฐบาล คสช. อาจจะไม่เข้าใจวิถีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการพูดทักทายโดยมารยาทของนักธุรกิจอย่างทรัมป์

“ท่านอาจจะไปตีความและคิดเอาเองว่าสหรัฐอยากเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ไปพบอย่างเป็นทางการ แต่ดูจากการวิเคราะห์ข่าวของสำนักข่าวในสหรัฐในวอชิงตัน ดี.ซี. ก็จะยังคงมีประเด็นที่ยังคงมองว่าไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ดังนั้น การที่ผู้นำของเขาจะมาให้ความสำคัญกับรัฐบาล คสช. คงเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักพอสมควร แต่ก็อย่าได้ละความพยายาม ตื๊อเท่านั้นที่อาจจะทำให้ได้เข้าพบ”

จากคำพูดของนายสุรพงษ์ ที่แม้จะมากด้วยสีสันของฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้ามรัฐบาล แต่ก็คงสะกิดใจให้รัฐบาลลดระดับความมั่นใจลงตามสมควร

โดยเฉพาะ “การพูดทักทายโดยมารยาทของนักธุรกิจอย่างทรัมป์” เป็นการเตือนใจให้คำนึงถึงความไม่แน่นอนตามบุคลิก “นักธุรกิจ” ของนายทรัมป์ด้วย

ขณะเดียวกัน น้ำเสียงของนายดอน ก็ไม่ได้ให้ความมั่นใจนักว่าการพบปะจะเกิดขึ้นเมื่อใด คือถึงแม้กำหนดการพบปะจะยังมีอยู่

ก็ไม่เร่งรีบ จนตอบไม่ได้ว่าการพบปะจะเกิดขึ้นภายในปีนี้หรือไม่

นี่เท่ากับยอมรับกลายๆ ว่า การพบกันของ 2 ผู้นำ จะเลื่อนออกไปยาวหลายเดือน ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่ ก็ไม่มีคำตอบ

“การหวังผลเลิศ” จากการสนทนาทางโทรศัพท์ 5 นาที คงจะต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่

และทำให้การวิเคราะห์ในตอนแรกว่า นายทรัมป์ “ติดกับ” นายกฯ ตู่นั้น

คงจะต้องมีเครื่องหมายคำถาม “?” พ่วงเข้าไปด้วย

พ่วงเข้าไปเพื่อสะท้อนถึงความไม่มั่นใจว่าการพบปะจะเกิดขึ้นหรือไม่ เกิดเมื่อไหร่

หรือจะไม่เกิดเลย

คนที่จะกำหนด “เกม” คือฝ่ายไหน คงไม่ต้องเอ่ยชื่อให้แสลงใจใคร!