หนุ่มเมืองจันท์ | รอยยิ้มที่กลับคืนมา

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนอ่านเพจ “เรื่องมิ้นท์มิ้นท์” เกี่ยวกับกลุ่ม “ลูกเหรียง” ไปเที่ยวสมุย

ประทับใจมาก

“ลูกเหรียง” เป็นกลุ่มที่ “ชมพู่” จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเยียวยาเด็กจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

มีทั้งเด็กที่สูญเสียพ่อ-แม่ หรือเด็กที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ตอนทำหลักสูตร ABC กับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ

วันปิดหลักสูตรเราเชิญ “ชมพู่” มาเล่าเรื่อง “ลูกเหรียง” ให้ฟัง

วันนั้น กลุ่มลูกเหรียงได้คุณพ่อคนใหม่ที่ชื่อ “โน้ส” อุดม แต้พานิช

“โน้ส” เข้าไปช่วยกลุ่มลูกเหรียงอย่างจริงจัง ซื้อบ้านหลังใหม่ เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

ABC 1 ร่วมกันพาน้องๆ ไปเที่ยวเชียงใหม่ สนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา

พอมาถึง ABC 8 เราก็ชวน “ลูกเหรียง” มาอีกครั้ง

เหมือนเดิมครับ ABC 8 ก็พา “ลูกเหรียง” ไปเที่ยวระยอง

“หนูเล็ก” เจ้าของโรงแรมแมริออท จัดการให้

ส่วนคนอื่นๆ ก็ช่วยสนับสนุนทุนการศึกษา

แต่ครั้งนั้น มีเด็กลูกเหรียงขึ้นมาได้ประมาณ 50 คนจาก 100 คน

“พี่ไก่” ประธานรุ่นบอกว่าครั้งหน้าต้องมาให้ครบ หรือเด็กที่ยังไม่ได้มาต้องมาเที่ยวทะเลอีก

ครั้งนี้เขาจึงพาไปเที่ยว “สมุย”

“แฟ” เจ้าของโรงแรมที่สมุยก็ช่วยดูแล

ส่วน “ติ” เป็นตัวหลักของ ABC 8 ในกิจกรรมนี้ทั้งหมด

เขามีความสุขกับกิจกรรมนี้มากตั้งแต่ไประยอง ไปมอบทุนให้ที่ยะลา จนถึงไปสมุยครั้งนี้

“ติ” เคยบอกว่า ตอนแรกคิดว่าไป “ให้”

แต่พอทำจริงแล้ว เขากลับ “ได้รับ” พลังจากน้องๆ ลูกเหรียงมาก

คล้ายๆ กับ “มิ้นท์” ที่ตอนนี้เป็นผู้บริหารระดับสูงของโรงหนังเอสเอฟ

เธอจะหาช่วงเวลาไปชาร์จแบตฯ ด้วยการไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบนี้

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของโครงการก้าว

ตั้งแต่ “ก้าวคนละก้าว” จนถึง “ตลาดใจ”

และ “ลูกเหรียง”

แม้กิจกรรมจะเหนื่อย แต่กลับมาแล้วมีพลัง

เพราะยิ่งให้ ยิ่งได้รับ

งานนี้ “โน้ส” ไปร่วมด้วย

และ “มิ้นท์” ก็ไปช่วย

“มิ้นท์” เล่าว่า เด็กๆ “ลูกเหรียง” ใช้ทะเลคุ้มมาก

เล่นน้ำทะเล เล่นกิจกรรมชายหาดตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนเย็น

เล่นกันไม่หยุด

แวะขึ้นมากินข้าวแล้วลงไปอีก

“น่าจะเป็นการใช้ทะเลที่คุ้มที่สุดของคนที่มาพัก”

กิจกรรมชายหาดมีทั้งวอลเลย์บอล แชร์บอล ฟุตบอล และเกมต่างๆ

มีเกมหนึ่งชื่อว่า “ต่อให้ยาวที่สุด”

เคยเล่นไหมครับ

เป็นเกมทีมบิลดิ้งที่นิยมเล่นกัน

ให้แต่ละทีมพยายามต่อตัว หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่

ทีมไหนยาวที่สุดชนะ

เกมนี้จะฝึกเรื่องไหวพริบและการเสียสละ

นอนยืดตัวบนชายหาดต่อกัน

เด็กคนไหนผมยาวก็คลี่เส้นผมให้ยาวที่สุด

บางคนเอาเข็มขัด ป้ายชื่อ รองเท้า ฯลฯ

อะไรก็ได้มาต่อให้ยาวที่สุด

นึกภาพเด็กๆ ที่เล่นเกมนี้สิครับ

ทุกคนจะสนุกมากกับการคิดหาอะไรที่อยู่ในตัวมาต่อให้ยาวที่สุด

“แล้วเด็กๆ ก็นอนลงบนทราย

ยืดแขนยืดขากันสุดตัว

เพื่อให้ยาวที่สุด

ยืดไปก็ยิ้มไป หัวเราะกันไป

พอหมดเวลา พี่ทีมงานเป่านกหวีด

กรรมการก็เดินดูเพื่อตัดสินว่าทีมไหนชนะ”

และภาพประทับใจที่สุดก็เกิดขึ้น

เด็กลูกเหรียงทุกคนล้วนแต่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาแล้วทั้งสิ้น

หลายคนเสียคุณพ่อ-คุณแม่ไป

ทั้งโดนลอบยิง หรือโดนระเบิด

น้องคนหนึ่งเคยเล่าว่า ความสุขที่สุดในชีวิตของเขา คือ การตื่นขึ้นมาแล้วรู้ตัวว่ายังมีชีวิตอยู่

ฟังเรื่องราวแต่ละคนทีไร

น้ำตาซึมทุกที

มีน้องคนหนึ่ง คุณแม่พาไปซื้อของ

จอดรถให้น้องรออยู่ในรถ

แม่ลงไปซื้อของ

เสียงบึ้มดังขึ้น

เมื่อแม่มาที่รถ ภาพที่แม่เห็นคือ น้องกระเด็นออกจากรถ

ไม่ตาย

แต่เสีย “ขา” ไปข้างหนึ่ง

“โน้ส” เล่าให้ “มิ้นท์” ว่าน้องได้รับความช่วยเหลือจากลูกเหรียง

ในช่วงแรก สภาพจิตใจน้องแย่มาก

เด็กสูญเสียขา

ไม่มีเพื่อน ไม่มีความมั่นใจ

ไม่มี “รอยยิ้ม” และไม่มี “เสียงหัวเราะ”

ต้องใช้เวลานานพอสมควร น้องจึงเริ่มปรับตัวได้

ทั้งสภาพจิตใจ และร่างกาย

“มิ้นท์” ส่งรูปน้องคนนี้ให้ดู ผมจำได้

เคยคุย เคยกอด

แม้ตอนที่เจอน้องจะดีขึ้นแล้ว

แต่ผมไม่รู้ว่าบาดแผลในใจของเธอหายไปแล้วหรือยัง

รู้แต่ว่าเธอปรับตัวได้แล้วกับสังคมใหม่

และ “ขาใหม่”

เกมต่อให้ยาวที่สุด

น้องคนนี้นอนทอดยาวกับชายหาด

ยืดตัวให้ยาวที่สุด

ยืดแขนให้ยาวที่สุดไปจับกับเพื่อน

ยืดขาให้ยาวที่สุด

และ “ต่อขา” เพิ่ม

ครับ เธอถอด “ขาเทียม” ข้างขวาที่ยาวตั้งแต่หัวเข่าลงไปออก

แล้วเอาไปต่อกับขาซ้าย

ในคลิป “โน้ส” เดินไปแซว

“ขอสัมภาษณ์หน่อยครับ คุณรู้สึกไหมครับว่าคุณเล่นขี้โกง”

น้องขำ

หัวเราะแบบเต็มเสียง

ผมดูจบ

เหมือนเดิมครับ “น้ำตาซึม”

ผมนึกถึงเด็กคนหนึ่งที่สูญเสียขาไป และต้องใส่ “ขาเทียม”

ทุกครั้งที่เดิน ทุกครั้งที่มอง “ขาเทียม”

เธอคงคิดถึงสิ่งที่สูญเสียไป

แต่วันนี้ “ลูกเหรียง-โน้ส-ABC ” ทำให้ความรู้สึกนั้นหายไป

“ขาเทียม” ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความสูญเสีย

กลับกลายเป็น “ความได้เปรียบ”

เธอมีในสิ่งที่คนอื่นไม่มี

น้องสามารถถอดขาออกมาแบบไม่รู้สึกเขินอาย

หัวเราะได้เต็มเสียง

ผมรู้สึกเลยว่าบาดแผลในใจของน้องคนนี้เลือนหายจนแทบไม่เหลืออยู่แล้ว

เธอได้ “รอยยิ้ม” กลับมาแล้ว