3 มิวสิค | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

คําพาดปก “มติชนสุดสัปดาห์” “อยากลืมกลับจำ”

นำไปสู่ อารมณ์ (อยากฟัง) เพลง ขึ้นมา 3 เพลง
เพลงแรก แน่นอนอยู่แล้ว ต้อง “อยากลืมกลับจำ”
ของ สุรพล โทณะวณิก
ทั้งเวอร์ชั่น เดอะฮอตเปปเปอร์ รวมทั้งเวอร์ชั่นของ ญารินดา ที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์
ความจำสั้น แต่รักฉันยาว

“บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม
บางสิ่งที่อยากลืม เรากลับจำ
คนเรานี้ คิดให้ดีก็น่าขำ
อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ
อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ…”

นี่เป็นสัจธรรม ที่เตือนใจดี ทั้งในแง่ปัจเจกและในแง่สังคม

นั่นคือ สิ่งที่เราพยายามลืม หรือ มีผู้พยายามทำให้ “สังคม” ลืมอะไรบางอย่าง

แต่เอาเข้าจริง เรา หรือ สังคม กลับ “จำ” สิ่งนั้น อย่างไม่ลบเลือน
ดังนั้น แม้อาจมีใครขโมยเอาบางสิ่งไป แต่เอาเข้าจริงก็คงขโมย “ความทรงจำ” ของเรา หรือสังคมไปไม่ได้

เพลงที่สอง เพลงประวัติศาสตร์ ของ คริสติน่า

“…ไม่มีใครเป็นผู้นำ ไม่มีใครเป็นผู้ตาม
เพราะเราจะเคียงกันไป
ประวัติศาสตร์ที่แล้วมา จะถูกจดบันทึกใหม่
คงไม่มีอย่างนั้นอีก
มันโบราณ มันออกจะโบราณ
มันไม่เป็นรุ่นใหม่
มันโบราณ มันออกจะโบราณ
โลกมันเปลี่ยนแปลง ไปแล้ว
ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ
ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน
เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน
ประวัติศาสตร์ในวันนี้ จะแตกต่างจากวันนั้น
รักของเราจะทันสมัย…”

แม้จะเป็นเพลงรัก แต่ก็เป็น รักที่ร้ายกาจ…

ร้ายกาจเหมือนการที่มีผู้พยายามจะดึงประวัติศาสตร์บางเรื่องออกไป

ซึ่งวิธีดังกล่าวมัน โบราณ ไปแล้ว อย่างคริสติน่า เธอว่า…ประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยน

เปลี่ยนไปเป็น “ฉันและเธอเท่าเทียมกัน”–อันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ถูกปูทางไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ต่างหาก

เพลงที่สาม “คนทำทาง” ของ ต้นกล้า วงดนตรีไทยเพื่อชีวิต ก่อน 6 ตุลาคม 2519
ซึ่ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คงจำได้ดี เพราะเป็นผู้แต่ง

“ประวัติศาสตร์ อาจมี ในหลายด้าน
แต่คนที่ทำงาน ไม่เคย จะเอ่ยออกนาม
คนที่แบกหามลุยน้ำลุยโคลน คนที่สรรสร้าง
จากป่าเป็นเมืองรุ่งเรืองงามเพียงเวียงวัง
ด้วยเลือด ด้วยเนื้อ ของคนทำทาง
ถางทาง ตั้งต้น ให้คนต่อไป
จากป่าเปลี่ยว เที่ยวไป ในทุกถิ่น
ดังโบกโบยบิน พื้นดิน เป็นถิ่นอาศัย
หนาวเหน็บเจ็บใจ ภัยร้ายนานา ชีวาว้าเหว่
เช้าค่ำจำเจ เร่ไป ให้คนเดินตาม
ทุกย่างเท้าเขา เหมือนเงา เรืองราม
ฝังนาม ฝังร่าง อยู่กลาง แผ่นดิน ฯ

ทีเด็ดทีขาด ที่ทำให้ “คนทำทาง” ผุดขึ้นมาให้คิดถึง ก็คงเป็น วรรคแรก ของเพลง

“ประวัติศาสตร์ อาจมี ในหลายด้าน”

ใช่แล้ว ประวัติศาสตร์หนึ่ง อาจมีมุมมองหลายมุม…สอดคล้อง หรือแตกต่างกันได้เสมอ

ซึ่งในความเป็นประชาธิปไตย สามารถอภิปรายถกเถียง โต้แย้งกันได้อย่าง “เสรี”

ไม่ควรเป็นอย่างที่ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” เขียนไว้ใน “มติชนออนไลน์” เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ว่า

“ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องทักท้วงถกเถียงกันได้ ไม่มีข้อยุติ
แต่ไม่จำเป็นต้องทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เป็นสมบัติสาธารณะ
ไม่ว่าทำด้วยฐานความคิดแบบใด?”

ฟังเพลงเพราะๆ แล้ว โปรดไตร่ตรองด้วยหัวใจอันเบิกบานเถิด