E-DUANG : อ่านใจ มีชัย ฤชุพันธุ์ อ่านใจกรธ. ผ่านกฎหมายลูก พรรคการเมือง

การถกเถียงในเรื่อง “เงิน” เมื่อมีการนำเสนอร่างพรบ.ประกอบรัฐ ธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

สะท้อนอะไร

สะท้อนว่า “เงิน” มีความสำคัญ ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าในทางการเมือง

จึงจำเป็นต้อง “กำกับ” จึงจำเป็นต้อง”ควบคุม”

หรือว่าต้องการให้พรรคการเมืองดำเนินไปอย่าง “โปร่งใส” สามารถตรวจสอบได้โดยผ่านกระบวนการทาง”การเงิน”

เป้าหมายจึงอยู่ที่ต้องการให้”พรรค”เป็นของ”ประชาชน”

เป้าหมายจึงอยู่ที่ไม่ต้องการให้ “เศรษฐี” หรือ”มหาเศรษฐี”เข้ามาใช้ “เงิน”เพื่อควบคุมพรรค

บทสรุปก็คือ “เงิน”มีความหมายยิ่งต่อ”พรรคการเมือง”

 

ทำไมจึงมองว่าพรรคชาติไทยเป็นของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ทำไมจึงมองว่าพรรคชาติพัฒนาเป็นของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

บางทีก็เรียกว่า “พรรคบรรหาร”

บางทีก็เรียกว่า “พรรคสุวัจน์”

คำตอบย่อมรู้กันเป็นอย่างดีเพราะว่าพรรคชาติไทยกำกับเส้นทางโดย นายบรรหาร ศิลปอาชา เพราะว่าพรรคชาติพัฒนากำกับเส้นทางโดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ยุค นายชวน หลีกภัย ก็ต้องมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นเลขาธิการ

แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ยุค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ

นี่คือการผนวกระหว่าง”การเมือง”กับ”เศรษฐกิจ”

 

ความพยายามของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ผ่านกระบวนร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

1 เพื่ออาศัย”เงิน”เป็นตัว”ตรวจสอบ”

1 เพื่อจัดระเบียบ”เงิน”ของพรรคการเมืองให้อยู่ในที่ทางอันเหมาะสม

เพื่อมิให้เป็นแบบ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

ใช้บทเรียนจาก ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ในการจัดระเบียบ”พรรคการเมือง”

จะสำเร็จหรือไม่ต้องรอเลือกตั้งปลายปี 2561