จากหนังสือ “นัดหมายในความมืด” สู่ภาพยนตร์ Waiting in the Dark

จากหนังสือขายดีของ “โอตสึ อิจิ” (นามปากกาของ ฮิโรตากะ อาดาจิ) นักเขียนนิยายลึกลับเขย่าขวัญที่กลายเป็นดาวรุ่งในชั่วข้ามคืนด้วยวัยเพียง 17 ปี โดยมีผลงานเขียนการันตีมาแล้วมากมาย อาทิ ฤดูร้อน ดอกไม้ไฟ และร่างที่ไร้วิญญาณของฉัน, รอยสักรูปหมา, โทรศัพท์สลับมิติ, ฉันหายไปในวันหยุด ฯลฯ

และล่าสุด “นัดหมายในความมืด” (แปลโดย พรพิรุณ กิจสมเจตน์)

ซึ่งหากใครได้อ่านแล้วคงรู้สึกได้ทันทีว่าสำนวนการแปลและภาษาที่ใช้ในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตัวละครและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบ้านของหญิงสาวตาบอดกับชายหนุ่มผู้ต้องสงสัย ทั้งความไม่น่าไว้วางใจ และปฏิกิริยาโต้ตอบที่ตัวละครทั้งสองต่างพยายามจะสื่อสารถึงกันนั้นทำออกมาได้ดีเพียงใด

ซึ่งในฉบับภาพยนตร์ก็ต้องยอมรับว่าทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน

Waiting in the Dark เล่าเรื่องของ “มิจิรุ” (ทานากะ เรนะ) สาวตาบอดผู้อยู่ในโลกไร้แสงมาแต่เล็ก โดยมีพ่อเป็นแหล่งพักพิงเพียงคนเดียว ซึ่งเธอก็ได้แต่อาลัยอาวรณ์คิดถึงแม่ผู้ทอดทิ้งไปมาโดยตลอด

วันหนึ่งเมื่อพ่อตายจาก เธอจึงอาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพัง

มิจิรุมีเพื่อนสนิทสมัยประถมเพียงคนเดียวที่คอยแวะเวียนไปมาหาสู่และชวนเธอออกไปเที่ยวเล่นเป็นครั้งคราว

ทว่าความเงียบเหงาเข้าปกคลุมความรู้สึกเดียวดายของมิจิรุได้ไม่นาน เมื่อในเช้าวันถัดมามีชายหนุ่มแปลกหน้าแอบย่องเงียบเข้ามาในบ้านของเธอ…

ข่าวการฆาตกรรมหน้าสถานีรถไฟในวันเดียวกันบอกให้เรารับรู้ว่า ผู้ต้องสงสัยที่หลบหนีคนนั้นคือ “อากิฮิโระ” (เฉินป๋อหลิน) พนักงานหนุ่มในบริษัทเดียวกับผู้ตาย

จุดนี้หนังอาศัยความเงียบภายในบริเวณบ้านสองชั้น และความเป็นคนพิการทางสายตาของมิจิรุ “เล่น” กับอารมณ์ของคนดูเพื่อประวิงเวลาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแยบยล

คือทำให้คนดูเกิดความรู้สึกสงสัยในเบื้องต้นว่าเขาใช้พื้นที่ตรงมุมห้องชั้นสอง (ทั้งที่ตัวบ้านกับสถานีรถไฟอยู่ไม่ห่างกัน) เป็นแหล่งกบดานทำไม?

และบานหน้าต่างที่อยู่เหนือหัวเขา เขาใช้ประโยชน์จากมันคอยชำเลืองสอดส่องดูสิ่งใดอยู่หลายครั้งหลายครา!

จากนั้นหนังจึงย้อนกลับไปเผยอดีตของอากิฮิโระว่า นอกจากเขาเป็นพนักงานชาวจีนเพียงคนเดียวในบริษัทผลิตโปสเตอร์แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นแล้ว ด้านมนุษยสัมพันธ์ส่วนตัวของเขายังบกพร่องอีกต่างหาก

เขาเป็นคนไม่ช่างพูด ไม่ค่อยสุงสิงกับเพื่อนร่วมงานด้วยกันเท่าไหร่นัก จึงกลายเป็น “แกะดำ” ของหมู่เพื่อนฝูงไปโดยปริยาย

โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานที่ทำตัวเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่ม ซึ่งมักอวดรวยให้เพื่อนฟังว่า มีธุรกิจใหญ่โตอยู่ต่างประเทศ

อีกทั้งยังมีสาวมากหน้าหลายตาเข้ามาห้อมล้อม และมักกลั่นแกล้งให้อากิฮิโระขุ่นข้องหมองใจอยู่เป็นประจำ

ก่อนที่ภาพจะตัดสลับกลับมาสู่สถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้ง เพื่อยืนยันให้คนดูร่วมรับรู้ต่อเหตุการณ์ฆาตกรรมในครั้งนี้ว่า “มูลเหตุ” และ “แรงจูงใจ” สำคัญน่าจะมาจาก “ความโกรธแค้นส่วนตัว” ของอากิฮิโระ ที่ถูกกลั่นแกล้งจนทนไม่ไหว จึงตัดสินใจล้างแค้นด้วยการผลักเพื่อนพนักงานชนรถไฟที่แล่นมาด้วยความเร็วตายคาที่แล้วกลัวความผิดจึงหนีมากบดานอยู่ในบ้านที่มีหญิงสาวตาบอดพักอาศัยอยู่เพียงลำพัง

ไม่นานนักมิจิรุก็เริ่มประหวั่นพรั่นพรึงว่าในบ้านที่ตนอาศัยมีสิ่งแปลกปลอมบางอย่างเข้ามาคุกคามจิตใจ ตั้งแต่เสียงแปลกๆ (ซึ่งเธอเล่าให้เพื่อนสนิทฟังว่าเป็นเสียงผี) ขนมปังในตู้เย็นที่จู่ๆ ก็ลดจำนวนลง (เพราะเธอกินอยู่คนเดียวอยู่ทุกวัน และหนูก็คงเปิดตู้เย็นเองไม่ได้)

ที่สำคัญ “ความรู้สึก” ที่เธอสังหรณ์ใจมาตลอดว่า เธอไม่ได้อยู่คนเดียวในบ้านหลังนี้!

ฉากหนึ่งซึ่งบ่งบอกว่าเธอรู้สึกไม่ผิดคือ ฉากที่เธอปีนหยิบของบนหลังตู้แล้วพลัดตกลงมา พร้อมของที่ร่วงตกระเนระนาดนั้น มีโถชามใบหนึ่งซึ่งกำลังหล่นใส่หน้ามิจิรุ แต่จู่ๆ มันกลับวางตั้งอยู่ข้างตัวของเธอ โดยที่ไม่มีร่องรอยของการแตกสลาย

เธอจึงกล่าวต่อสุญญากาศกับสิ่งที่เธอรู้สึกไปว่า “ขอบคุณ”

รายละเอียดในเวลาต่อมาเริ่มบ่งชี้พร้อมเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจที่คนดูเคยร่วมมาตลอดว่า อากิฮิโระต้องเป็นคนฆาตกรรมนายคนนั้นแน่ๆ

เมื่อภาพเริ่มย้อนกลับไปสู่ฉากชานชาลานั้นอีกถึง 2-3 หน ซึ่งหนังตัดอารมณ์ความรู้สึกปรักปรำในส่วนนี้ได้ดีเหลือเกิน คือหลอกคนดูให้หลงเชื่อตามได้ตั้งนาน

พร้อมกันนั้นยังส่งผลให้เรารู้สึกเห็นใจต่อเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องที่เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัย (มีเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟเห็นเขาวิ่งหลบหนีไป) จนมาถึงเหตุผลส่วนตัว (เป็นปฏิปักษ์กับเพื่อนร่วมงานด้วยกัน) รวมทั้งเรื่องเชื้อชาติถิ่นกำเนิด (เป็นคนต่างด้าว)

เมื่อหลายเหตุผลมาประกอบกัน

มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด หากเขาต้องโทษถูกคุมขังขึ้นมาจริงๆ ในเมื่อสังคมได้พิพากษ์เขาไปหมดแล้ว!

ซึ่งการที่คนในสังคมใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสิน “คนด้วยกัน” แม้จะต่างเชื้อชาติกันก็ตาม มันจึงออกจะดูร้ายแรงเกินไปในสังคมทุกวันนี้ หนังจึงตั้งใจตบหน้าคนดูแล้วบอกว่า “สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่อย่างที่ตาเห็นก็เป็นได้”

นอกจากนี้ หนังยังให้ข้อคิดสัจธรรมสอนใจเกี่ยวกับ “การก้าวพ้นความกลัว” เพื่อให้คนดูนำไปขบคิดต่อได้อย่างน่าสนใจ ผ่านตัวละครของ “มิจิรุ” ผู้ซึ่งไม่เคยก้าวพ้นออกนอกประตูบ้านเพียงคนเดียว

เธอพร่ำบอกเสมอว่าตนมีความสุข อยู่กับการทำกิจวัตรประจำวันภายในบ้าน (เธอมีนาฬิกาปลุกคล้องคอไว้คอยเตือนว่าเวลานี้เวลานั้นต้องทำอะไร) แม้เพื่อนจะคะยั้นคะยอเพียงใด เธอก็ยังดื้อรั้นที่จะไม่ยอมออกนอกบ้านคนเดียว (เนื่องจากเธอมีภาพจำฝังใจร้ายๆ ในอดีตที่เคยถูกรถเฉี่ยวชน)

แต่เมื่อเธอกล้าและพร้อมที่จะก้าวเดินด้วยตัวเองอย่างมั่นใจ เธอจึงได้รู้ว่า “โลกนอกกะลา” ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

หากใครนิยมชมชอบหนังสือเรื่องนี้มาก่อนคงชวนให้ติดตามได้ไม่ยาก เพราะสไตล์การเล่าเรื่องในหนังมันช่างเงียบเหงาเหมือนในหนังสือเอามากๆ (หนังเล่นกับอารมณ์ของตัวละครเป็นส่วนใหญ่ อีกอย่างเฉินป๋อหลินพูดญี่ปุ่นไม่ชัด!)

ซึ่งเจ้าความเงียบเหงาที่ว่านี้แหละ กลับดูดซับอารมณ์คนดูให้ติดตามไปได้ตลอดทั้งเรื่องโดยไม่ชวนให้ง่วงเหงาหาวนอนเลยแม้แต่นิด…

โดยเฉพาะเมื่อหนังได้เฉลย “ความลับ” ตรงหน้าต่างบานนั้น!