90 ปี สถาปัตย์ จุฬาฯ

วัชระ แวววุฒินันท์

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบ 90 ปีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งขออนุญาตเขียนถึงวาระนี้สักหน่อยนะครับ

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้ว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มขึ้นจากการก่อตั้งเป็นแผนกสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเพาะช่าง มาก่อนในปี 2473 พอปี 2475 ก็โอนย้ายแผนกมาขึ้นกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นแผนกหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์

พอวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2476 มีการประกาศให้แผนกสถาปัตยกรรม เปิดรับนิสิตเข้าเรียนโดยตรงเป็นปีแรก จึงถือว่าเป็นปีที่เริ่มนับ 1 ของการก่อตั้งคณะอย่างเป็นทางการ

จนบัดนี้ปี 2566 ก็ 90 ปีเข้าแล้ว โดยในปี 2477 ได้แยกออกมาเป็นคณะอิสระของตนเอง

 

ศิษย์เก่ารุ่นแรกๆ และในช่วง 40 ปีต้นๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่บ้างก็ เช่น คุณพิชัย วาศนาส่ง นักวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ, พี่หมวก-สักกรินทร์ ปุญญฤทธิ์ ฉายาเอลวิสเมืองไทย, พี่โญ-ญานี ตราโมท นักแสดงและพิธีกร, พี่แต๋ว-วาสนา วีระชาติพลี นักจัดรายการเพลงสากลทางวิทยุ เป็นต้น

ที่เอ่ยมานั้นส่วนใหญ่จะเป็นคนแวดวงสื่อมวลชนและวงการบันเทิง เพราะเป็นที่รู้จักกับผู้คนในวงกว้าง จนเคยมีคนถามว่า ทำไมพวกถาปัดมาทำงานสายบันเทิงเยอะจัง จริงๆ แล้วไม่เยอะนะครับ ถ้าจะเทียบกับคนที่ทำงานสายอาชีพที่เรียนมา ก็พบว่ามีจำนวนมากกว่าหลายเท่า เพียงแต่บุคคลเหล่านั้นอาจจะไม่ดังในวงกว้างแบบพวกทำงานบันเทิง

ยิ่งในยุคหลัง พ.ศ.2520 ที่อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงบูมอย่างมาก มีการพัฒนาของชิ้นงานและการทำงานอย่างก้าวกระโดด ก็มีศิษย์เก่าถาปัด จุฬาฯ กระโดดเข้ามาคลุกคลีตีโมงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอยู่ไม่น้อย และเผอิญมีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่รู้จักอย่างมากอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น จรัสพงษ์ สุรัสวดี, ปัญญา นิรันดร์กุล, นิติพงษ์ ห่อนาค, ประภาส ชลศรานนท์, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, วัชระ ปานเอี่ยม, เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์, กลุ่มซูโม่สำอาง, กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ, ดู๋-สัญญา คุณากร, สแตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข, เมธี น้อยจินดา มือกีตาร์แห่งวงโมเดิร์นด็อก, แพท วงเคลียร์, นักเขียนอย่าง วินทร์ เลียววาริณ และ นิ้วกลม เป็นต้น

รวมทั้งนางเอก แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ และนางเอก พิม-พิมประภา ตั้งประภาพร ที่เป็นที่ชวนอวดของคณะอีกด้วย

ย้อนไปเรื่องคณะสักหน่อย แต่แรกนั้นมีการเรียนเฉพาะหลักสูตรสถาปัตย์ คือ การออกแบบอาคารเท่านั้น

ภายหลังขยายสาขาออกไปอีก เช่น ผังเมือง, ภูมิสถาปัตย์, ออกแบบอุตสาหกรรม, สถาปัตยกรรมภายใน, เคหการ

และมีการตั้งเป็นหลักสูตรอินเตอร์ในภายหลัง เพื่อไม่ให้ตกยุคกับเขา

สมัยก่อนความเป็นสังคมหมู่มีอยู่สูง มีกิจกรรมของมหาวิทยาลัยยามใด ก็จะมีนิสิตทั้งมหาวิทยาลัยมาลงมือลงแรงกัน ประกอบกับจำนวนคนในยุคก่อนยังไม่มาก ทำให้ศิษย์จุฬาฯ รู้จักมักจี่กันข้ามคณะได้ไม่ยาก

คณะสถาปัตย์เป็นพวกซนๆ ช่างคิดช่างเล่นอยู่แล้ว เวลามีกิจกรรมอะไรก็จะใส่อารมณ์สนุกและอารมณ์ขันลงไปด้วยเสมอ จึงเป็นที่โดดเด่นและชื่นชอบของเพื่อนๆ นิสิตและผู้ที่ได้ชม

มีคนถามว่า ถาปัดทำไมถึงได้ทำอะไรออกมาแปลกๆ แผลงๆ และทำงานใหญ่ๆ ได้ดี

เรื่องนี้ เอ๋ นิ้วกลม ได้เขียนไว้ว่า “ถามตัวเองว่า ถาปัดสอนอะไร สำหรับผมมันคือสิ่งต่อไปนี้” และนี่คือส่วนหนึ่งที่เอ๋ตอบเอาไว้

– สอนให้จัดองค์ประกอบ ไม่เพียงงานออกแบบห้อง บ้าน เก้าอี้ พรม ผ้าม่าน งานกราฟิก แต่คือ องค์ประกอบชีวิตทั้งหมด

– สอนให้สร้างและสรรค์ คือ มองสิ่งเดิม คิดแล้วทำให้ดีกว่าเดิมด้วยสมองของเรา

– สอนให้สนใจ “ชีวิต” และสิ่งประกอบเป็นชีวิต

– สอนว่าชีวิต ไม่ได้เริ่มต้นด้วยแบบไฟนอล หากคือการร่างแบบและแก้ไขซ้ำๆ จนเขยิบสู่สิ่งที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

และที่สั้นกระชับแต่ผมชอบมากๆ คือ ที่เอ๋บอกว่า “สอนว่าจงสนุก”

 

คนอายุ 70 ปีขึ้นอาจเคยได้ยินชื่อ “วงดนตรีลูกทุ่งถาปัด” ที่มีเอกลักษณ์ในการบรรเลงดนตรี และลีลาการร้องการเต้น นำทีมโดยพี่โญ-ญานี ตราโมท เวลาแสดงที่คณะหรืองานในจุฬาฯ จะมีคนมาดูแน่นทุกครั้ง เรียกว่าถ้ามีรายการ Thailand got Talent ตอนนั้น ต้องได้แชมป์แน่นอน

เช่นเดียวกับหลายคนที่เคยเป็นแฟนประจำของ “ซูโม่สำอาง” ต้องเปิดดูทุกวัน ให้ได้หัวเราะอารมณ์ดี

หลายคนต้องเสียเงินซื้อบัตรเพื่อชม “ละครถาปัด” ทุกๆ ปี

ในหนังสือ “เรื่องสั้นชุดว้าวุ่น” ของ ปินดา โพสยะ ได้เขียนถึงชีวิตของกลุ่มเพื่อนในคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ อย่างมีอารมณ์ขัน จนทำให้หลายคนบอกว่าที่เข้ามาเรียนที่คณะนี้ เพราะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนมัธยม จนอยากเข้ามาเรียนที่นี่ ชีวิตของคนในคณะนี้สนุกอย่างไร

ขอนำบางช่วงบางตอนในหนังสือมาถ่ายทอดให้อ่านกันสักหน่อย

 

…ที่หน้าตึกคณะจะมีบันไดกว้างใหญ่ยาว และมีแท่นสี่หลี่ยมขนาบอยู่สองข้าง บันไดนี้นอกจากจะใช้ขึ้นลงตามประโยชน์ใช้สอยจริงๆ แล้ว ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์ไม่ได้สอนไว้ นั่นคือไว้ใช้นั่งเล่น

ทุกเย็นจะมีนิสิตชายหญิงมานั่งหน้าสลอนอยู่เต็มไปหมด คล้ายๆ อัฒจันทร์ดูกีฬายังไงยังงั้น ผิดกันแต่ว่าพวกนี้ไม่ได้ดูกีฬา คุยกันเองบ้าง ด่ากันบ้าง ปรึกษาเรื่องงาน และคอยดูคนที่เดินผ่านไปมาข้างหน้าตึก ดูไปก็นินทาไป ค่อนแคะไปต่างๆ นานา แล้วแต่ปากใครจะไวกว่ากัน

“คุณ คุณ เดินบิณฑบาตเหรอ”

“คนนี้ตัดหัวออก ถึงจะขายได้”

หรืออย่างตอนที่เขียนถึงเรื่องการแสดงต่างๆ ของคณะ ก็ได้เล่าไว้ว่า

…บางทีพวกเราก็ทำเรื่องไม่น่าเชื่อให้เป็นจริงขึ้นมาได้ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คนดูคอยนักคอยหนาว่า เรื่องราวจะเป็นยังไง แล้วจะเล่นกันยังไง ก็คือเรื่อง “The King and I”

พอประกาศว่ารายการต่อไปเป็นละครสั้นเรื่อง “The King and I” คนดูก็ปรบมือกันถ้วนทั่ว ตั้งตาคอยดูม่านที่ขยับเปิดออก

ปรากฏภาพข้างในเป็นวังแบบไทยๆ คล้ายๆ กับวังยี่เกมากกว่า แสงสีตอนนั้นทึมๆ แลดูขรึมสง่าว่าเป็นวังเจ้า แล้วค่อยสว่างเจิดจ้าขึ้นรับกับเสียงดนตรีไทยคลอตลอดเวลา

แล้วเดอะ คิงก็ปรากฏตัวขึ้น แต่งกายอย่างที่มองรู้ว่าต้องเป็นกษัตริย์แน่ๆ ว่ากันว่าชุดนี้ไปเช่ามาเทียวนะ เดอะ คิง เดินออกมาจากม่านข้างเวที ฝ่าสายตาคนดูมาที่กลางเวที ขยับจะพูดแต่ก็เอามือปิดปากแล้วไอค้อกแค้กลั่นไปหมด พอจะพูดก็ไออีก จนพูดก็พูดไม่ได้ยิ่งไอใหญ่ เลยส่ายหน้าเดินเข้าเวทีไป

เป็นอันจบ The King and I แต่เพียงนี้…

อีกตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับวันรับปริญญาของจุฬาฯ ความว่า

…เมื่อ “คิด” (ตัวละครหนึ่งในว้าวุ่น) ยังเป็นน้องใหม่อยู่นั้น ดูคิดจะสนุกกับพวกบัณฑิตและกับงานวันนี้ได้มากโข คิดชอบจะเดินเตร่ไปมาแถวๆ ที่เขาถ่ายรูปกันเยอะๆ ที่บัณฑิตจะชักภาพเป็นที่ระลึกกันจ้าละหวั่น ทั้งรูปเดี่ยวรูปหมู่กับครอบครัวและกับเพื่อนฝูงบ้าง

คิดจะตะโกนไปรอบๆ ว่า

“รับจ้างเป็นญาติ รับจ้างเป็นญาติ”

พวกที่ถ่ายรูปอยู่หันมามองอย่างงงๆ เป็นแถว

“รับจ้างเป็นญาติสำหรับคนที่ไม่มีญาติมาในวันนี้ หรือมีญาติน้อยเกินไป ถ้าเป็นญาติสนิทก็แพงหน่อย แต่ถ้าญาติห่างๆ หรือแค่คนรู้จักก็ถูกหน่อย มีให้เลือกได้หลายราคาแล้วแต่ความสนิทสนม”

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสนุกของชีวิตเด็กถาปัด ที่บรรจุไว้ในหนังสือ “เรื่องสั้นชุดว้าวุ่น” ที่เขียนไว้เมื่อ 40 ปีก่อน และตอนนี้ได้มีภาคจบของชีวิตตัวละครแต่ละคนมาให้ได้อ่านกันแล้ว ในชื่อ “ว้าวุ่น…วาย” ซึ่งหลายคนในวันก่อนกลายมาเป็นคนดังในวันนี้

ใครสนใจสั่งซื้อได้ทาง Line@pinda นะครับ ขออนุญาตโฆษณาหน่อย

 

กลับมาที่ 90 ปีคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ซึ่งตอนที่ผมเข้ามาเป็นน้องปีหนึ่งนั้น เป็นรุ่นที่ 46 คือตั้งมา 46 ปีแล้ว เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก 44 ปีผ่านไป คณะก็สูงวัยด้วยเลข 90 แล้ว

ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มีตัวอาคารใหม่ๆ และทันสมัยเกิดขึ้นเคียงข้างอาคารเดิมที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์หนึ่งของคณะ ชั้นปีหนึ่งๆ มีนิสิตเกือบ 200 ซึ่งรุ่นผมมี 90 คนเอง มีภาควิชาหลากหลายมากขึ้น หลักสูตรและเนื้อหาวิชาการก็ได้ปรับให้ทันสมัยทันโลกมากขึ้น

โลกของเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างอาคารเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนรุ่นหลังๆ เล่าให้ฟังว่าวัสดุก่อสร้างที่ใช้เรียนกันตอนปีหนึ่ง พอจบมาก็ไม่ใช้กันแล้วก็มี

ความคิดความอ่านของคนรุ่นใหม่ที่ทั้งเข้ามาศึกษา และทั้งอาจารย์ผู้สอนก็พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

แต่ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปมากเท่าไหร่ หัวใจของคณะสถาปัตย์ ที่สอนให้รู้จัก “ชีวิต” และ “ธรรมชาติของชีวิต” ก็ยังคงอยู่ ซึ่งคนก็เป็นหนึ่งปัจจัยหลักของชีวิตที่ว่านี้

การรู้จัก “คน” อย่างเท่าทัน จะทำให้เราสามารถทำงานได้ทุกประเภทและทุกระดับ ไม่ว่าจะเพียงสร้างกระท่อมหนึ่งหลัง หรือสร้างเมือง หรือสร้างประเทศ ก็ตามที

แถมด้วยว่า ถ้ามองชีวิตที่เราเท่าทัน แบบมีอารมณ์ขันด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้การทำอะไรก็ตามมันราบรื่นขึ้นเป็นกอง ก็อย่างที่เอ๋ นิ้วกลม ได้บอกไว้ ที่ถามว่าคณะสถาปัตย์ได้สอนอะไร

คำตอบหนึ่งคือ “สอนว่าจงสนุก”

มาสนุกกับชีวิต และทุกการเปลี่ยนแปลงกันเถิดครับ •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์