คนมองหนัง : ภาวะ ‘ท้าทาย-สุ่มเสี่ยง’ ของ ‘ละครจักรๆ วงศ์ๆ’ ไทย

คนมองหนัง

 

ภาวะ ‘ท้าทาย-สุ่มเสี่ยง’

ของ ‘ละครจักรๆ วงศ์ๆ’ ไทย

 

พื้นที่คอลัมน์นี้ไม่ได้เขียนถึงเรื่องราวในแวดวงละครจักรๆ วงศ์ๆ มาพักใหญ่ เนื่องจากภาวะเซื่องซึมในยุคแพร่ระบาดของโควิด-19

อันที่จริงแล้ว ก่อนการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ความเคลื่อนไหวของ “ค่ายสามเศียร” ผู้ผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ เจ้าเดียวของช่อง 7 นั้นมีลักษณะน่าสนใจและน่าจับตาอยู่หลายข้อ

เริ่มจากการเปลี่ยนแนวทางการทำงานไปผลิต “ละครสต๊อก” หรือละครที่ถ่ายทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นก่อนการออกอากาศ ไม่ใช่การออกอากาศไปถ่ายทำไป ซึ่งเป็นจารีตการทำงานที่สามเศียรยึดถือเสมอมา

โดยละครสต๊อกสองเรื่องแรกที่อยู่ในแผนการถ่ายทำ-เตรียมงาน ก็คือ “พิกุลทอง” และ “ไกรทอง”

นอกจากนั้น สามเศียรยังออกแบบสอบถามออนไลน์มาสำรวจความคิดเห็นและรสนิยมของแฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ ตลอดจนประกาศรับสมัครนักแสดงรุ่นใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม แผนงานทั้งหมดเหล่านั้นดูจะถูกชะลอลงหรือดำเนินไปไม่ตรงตามเป้าหมายเพราะการแพร่ระบาดสองระลอกใหญ่ๆ ของโควิด

ผลงานอันเป็นรูปธรรมจับต้องได้ จึงเหลือแค่การพยายามออกอากาศละคร “พระสุธน-มโนห์รา” ต่อไปจนจบ สลับกับการรีรันละครเก่าเรื่องแล้วเรื่องเล่าตลอดช่วงปี 2563-2564

 

ปัจจุบัน สามเศียรเลือกจะนำละครฮิตอย่าง “สังข์ทอง 2561” มารีรัน

ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 “สังข์ทองรีรัน” ตอนที่ 30 กว่าๆ กำลังดำเนินไปอย่างสนุกสนาน เมื่อ “เจ้าเงาะ” ต้องปะทะสังสรรค์กับพ่อตา เช่น “ท้าวสามนต์” รวมทั้ง “หกเขย-หกพระพี่นาง”

ขณะเดียวกัน หากมองเผินๆ ผ่านตัวเลขเรตติ้งแล้ว ก็ดูเหมือนนี่จะเป็นการแก้เกมที่มีประสิทธิภาพพอสมควร

ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://www.tvdigitalwatch.com/ ระบุว่าเมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน “สังข์ทองรีรัน” มีเรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 2.935 ถือเป็นรายการยอดนิยมอันดับ 6 ของประเทศในวันดังกล่าว (โปรแกรมยอดนิยมอันดับ 1 คือละครหลังข่าว “ทุ่งเสน่หา รีรัน” ทางช่อง 3 ซึ่งมีเรตติ้งเฉลี่ย 3.437)

ส่วนในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน “สังข์ทองรีรัน” ตอนที่ “เจ้าเงาะ/พระสังข์” ออกไปหาปลาพร้อม “หกเขย” ได้เรตติ้งเฉลี่ยสูงถึง 3.576 นับเป็นรายการยอดนิยมอันดับ 2 ของประเทศในวันดังกล่าว

แพ้เพียงรายการ “เพชรคู่เพชร 300” ซึ่งออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ ซึ่งมีเรตติ้งเฉลี่ย 3.792

แถมยังเอาชนะละครหลังข่าวช่อง 7 อย่าง “พริกกับเกลือ” ที่มีเรตติ้งเฉลี่ย 3.547

 

แต่หากมองปรากฏการณ์อื่นๆ ประกอบด้วย เราก็อาจพบเห็นอาการบางอย่างที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย

อาการแรก คือ หลายคนคงทราบดีว่าสามเศียรนั้นออกอากาศละครจักรๆ วงศ์ๆ ในช่วงเวลาเช้าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยการซื้อ/เช่าช่วงเวลาดังกล่าวจากทางช่อง 7 ไม่ใช่การเป็นผู้รับจ้างผลิต (ดังกรณีละครเย็นหรือละครหลังข่าว) ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ในการหาโฆษณาระหว่างพักเบรกละครจึงเป็นภาระรับผิดชอบของสามเศียรโดยตรงเพียงฝ่ายเดียวเต็มๆ

อย่างไรก็ดี จำนวนโฆษณาของสินค้าบริการต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนละครจักรๆ วงศ์ๆ รีรัน กลับมีไม่เต็มสล็อตเวลา จนคนดูได้ชมโฆษณาอินเฮาส์ของค่ายสามเศียร (จ้า จ๊ะทิงจา) ซึ่งต้องมาออกอากาศขัดตาทัพอยู่เสมอ

ในพื้นที่สื่อออนไลน์-โซเชียลมีเดีย ช่องยูทูบ “SAMSEARN OFFICIAL” นั้นเป็นหนึ่งในช่องที่แข็งแรงด้วยจำนวนผู้ติดตามเกินหลัก 3 ล้านราย

ทว่าเมื่อมีการนำคลิปละครเก่ามารีรันซ้ำ ยอดคนดูวิดีโอเฉลี่ยกลับอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนวิวต่อคลิป (ผิดกับตอน “สังข์ทอง 2561” ออกอากาศครั้งแรก ที่คลิปละครแต่ละตอนมีคนดูเกิน 1 ล้านวิวแบบสบายๆ)

“SAMSEARN OFFICIAL” คล้ายพยายามกอบกู้สถานการณ์ด้วยการไลฟ์รายการสดจากทีวีดาวเทียมช่อง “จ๊ะจิงจา” แบบยาวๆ ตลอดวันตลอดคืน แต่ก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมในยูทูบไม่มากนัก

ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก “บริษัทสามเศียร [Fanpage]” ก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่แข็งแรงเหมือนยูทูบ เพราะมุ่งเน้นไปยังการปล่อยคลิปละครรีรันเวอร์ชั่นยาวๆ เป็นหลัก ซึ่งอาจไม่ต้องตรงกับพฤติกรรมของผู้ดูวิดีโอในโซเชียลมีเดียเจ้านี้สักเท่าไหร่

เอาเข้าจริง “สังข์ทองรีรัน” นั้นมีฉากเด็ดๆ ที่สามารถนำมาตัดเป็นคลิปไฮไลต์สั้นๆ ย่อยๆ และโกยยอดวิวในเฟซบุ๊กได้เยอะแยะ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทางสามเศียรจะมีทีมงานตัดต่อวิดีโอเพียงพอหรือไม่?

 

หลักฐานประการสุดท้ายที่บ่งชี้ว่าเสาหลักเสาเดียวของละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย กำลังอยู่ในจุดท้าทายสำคัญ ก็คือ ข้อมูลซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เมื่อพิจารณางบกำไรขาดทุนของ “บริษัท สามเศียร จำกัด” ระหว่างปี 2561-2563 พบว่าค่ายสามเศียรมีรายได้ลดลงชัดเจนในปีที่แล้ว

โดยในปี 2561 บริษัทเคยมีรายได้รวม 262.7 ล้านบาท ปี 2562 เคยมีรายได้รวม 240.4 ล้านบาท แต่พอมาถึงปี 2563 ตัวเลขรายได้รวมกลับเหลือเพียง 131.5 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาที่ตัวเลขกำไร (ขาดทุน) สุทธิของสามเศียร พบว่าในปี 2561 บริษัทมีกำไร 29.7 ล้านบาท ปี 2562 มีกำไร 21.2 ล้านบาท แต่กลับขาดทุนถึง 17.9 ล้านบาท ในปี 2563

รายได้ที่ลดลงและผลประกอบการที่ขาดทุนของสามเศียรในปี 2563 นั้นมีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดและการเดินหน้าผลิตละครเรื่องใหม่ไม่ได้ โดยชัดเจน