ภาพยนตร์ : THE KOMINSKY METHOD ‘นักล่าฝัน’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

THE KOMINSKY METHOD

‘นักล่าฝัน’

 

ผู้สร้าง

Chuck Lorre

นำแสดง

Michael Douglas

Alan Arkin

Sarah Baker

Paul Reiser

Kathleen Turner

Haley Joel Osment

 

คราวนี้อดไม่ได้ที่จะเขียนถึงหนังชุด sit-com ทางทีวีที่เพิ่งออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์สดๆ ร้อนๆ และจบลงอย่างสวยงามบริบูรณ์ในซีซั่นที่สาม สิริรวมทั้งหมด 22 ตอน

สนุกทุกหยดทุกตอนเลยนะคะ ไม่อยากให้แฟนหนังพลาดกันเลย โดยเฉพาะผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะที่มาพร้อมกับวัยวุฒิ…

…เพราะนี่เป็นเรื่องราวของคนในวัยสนธยาแห่งชีวิต…

และนักเรียนการแสดงหรือคนในวงการละครก็ยิ่งไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องราวของครูสอนการแสดงที่เคยมีความฝันอยากเป็นนักแสดง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เลยหันมาใช้ทักษะการแสดงที่ไม่มีใครเห็นค่ามาเปิดสตูดิโอสอนการแสดงให้แก่นักล่าฝันที่ยังเยาว์อยู่

สตูดิโอสอนการแสดงนี้ชื่อ The Kominsky Method ซึ่งใช้เป็นชื่อหนังด้วย

 

ตัวละครหลักในเรื่องชื่อ แซนดี้ โคมินสกี (ไมเคิล ดักลาส) ซึ่งแน่นอนว่าสตูดิโอก็ควรต้องใช้ชื่อเขาประทับตรา แต่คนนอกวงการอาจไม่ทราบความหมายเฉพาะของคำว่า Method ในวงการแสดง

เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 หรือกว่าร้อยปีมาแล้ว นักการละครชาวรัสเซียชื่อ คอนสแตนติน สตานิสลาฟกี ปฏิวัติวงการแสดงด้วยการวางระบบการเข้าสู่บทบาทของนักแสดงเสียใหม่

“ระบบ” นั้นแพร่หลายไปทั่วโลกโดยเรียกกันว่า “วิธีการแบบสตานิสลาฟกี” (The Stanislavki Method) และยังเป็นแนวทางที่ใช้สำหรับสอนและฝึกนักแสดงในสถาบันต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้

สตูดิโอของโคมินสกีตั้งอยู่ในลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นเมืองของนักล่าฝันในฮอลลีวู้ด

หนังเปิดเรื่องในชั้นเรียนการแสดงที่แซนดี้ โคมินสกี สอน หน้าที่สำคัญยิ่งของครูสอนการแสดง คือการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียน

และแซนดี้ก็ทำด้วยการพูดถึงการแสดงว่าเป็น “การสร้างสรรค์” เช่นเดียวกับงานสร้างสรรค์ของพระเจ้า คือทำให้สิ่งที่ไม่มีอยู่เกิดมีขึ้นเหมือนเนรมิตในพริบตา…นักเรียนบางคนฟังอย่างตั้งใจและจดคำอุทานของเขาอย่าง “บูม” หรือ “แบม” ลงในสมุด เมื่อเขาขยายความต่อไปอีกว่า เมื่องานของนักแสดงเหมือนกับงานของพระเจ้า นักแสดงก็ต้องรักงานสร้างสรรค์ของตัวเอง เหมือนกับที่พระเจ้ารักโลกรักมนุษย์ที่พระองค์สร้างขึ้น

ในตอนนั้นเองที่หนุ่มผมทองยกมือขึ้นถามว่า “พรุ่งนี้ผมจะมีงานถ่ายโฆษณาแชมพู ผมควรเตรียมตัวยังไงถึงจะรักงานแสดงของผมได้” แซนดี้ตอบว่า “ก็สระผมไปก่อนสิ”

ตั้งแต่เปิดเรื่อง รายละเอียดในบทเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ซึ่งเขียนให้เป็นเรื่องชวนหัวโดยไม่ใส่เสียงหัวเราะเข้ามาเหมือนในซิตคอมทั่วไป ชวนให้ติดใจและติดตาม…

อ้อ อีกนิดในประโยคแรกๆ ที่แซนดี้พูดเกริ่นว่านักแสดงทำอะไรแก่บทบาทที่เล่น เขาใช้สรรพนามแทนนักแสดงว่า he or she แต่แล้วเมื่อเหลือบไปเห็นนักเรียนคนหนึ่งซึ่งท่าทางจะไม่ลงอยู่ในเพศชายหรือเพศหญิง เขาก็ปรับสรรพนามเสียใหม่โดยใช้คำว่า “they?” ซึ่งทำให้นักเรียนคนนั้นพยักหน้ารับ

การใช้ภาษาในสังคมสมัยใหม่นี้ต้องปรับเปลี่ยนไปมาก แม้กระทั่งสรรพนาม เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนความอ่อนไหวของคนเพศที่สาม (LGBTQ) ซึ่งรวมอยู่ในประเภทที่ยังจำแนกแยกแยะได้อีก ซึ่งค่อยๆ เพิ่มประเภทย่อยมากขึ้นและยังอาจมีมากกว่านี้ในอนาคต

นี่เป็นมุขตัวอย่างที่ทำให้ผู้เขียนติดใจและติดตามดูหนังชุดมาตั้งแต่ต้น

 

บทที่สนุกอย่างยิ่งอยู่ที่มิตรภาพอันยาวนานระหว่างชายสูงวัยสองคน คือแซนดี้กับนอร์แมน (อลัน อาร์กิน) นอร์แมนประสบความสำเร็จในธุรกิจตัวแทนในวงการบันเทิง และมีภรรยาที่รักและอยู่ด้วยกันจนตายจากกันตั้งแต่ตอนที่ 1

ขณะที่แซนดี้ยังทำธุรกิจที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง และเลิกรากับภรรยามาไม่ต่ำกว่าสามคน

เพื่อนรักทั้งสองคนนัดกินข้าวด้วยกันทุกอาทิตย์ในร้านอาหารเก่าแก่ที่มีบริกรดั้งเดิมที่แบกถาดมาเสิร์ฟอย่างเชื่องช้า และบางทีก็สับสนทิศทางไม่รู้จะเดินไปทางไหนดีในร้านที่ตัวเองทำงานมาทั้งชีวิต

เมื่อตัวละครผ่านชีวิตมาเกินครึ่งจนถึงค่อนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการเตรียมตัวเตรียมใจจะเผชิญกับสิ่งที่มนุษย์ทุกคนกลัวแต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งนั้นเกิดขึ้นแก่คนใกล้ชิดของตัวละครตัวหนึ่ง

นอร์แมนเสียภรรยาสุดที่รักไปให้แก่โรคร้าย ซึ่งเตรียมตัวเตรียมใจด้วยการสั่งเสียการจัดงานศพของตัวเองอย่างละเอียดลออ กระทั่งชนิดของไม้ที่จะทำโลงศพ…ซึ่งสร้างความยุ่งยากอันชวนหัวแก่คนที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเสีย

งานศพของเธอซึ่งบอกไว้ว่าไม่ต้องการให้ใครมาร้องไห้อาลัย ก็เป็นไปสมความตั้งใจของเจ้าของงาน คือทำให้คนดูหัวเราะจนน้ำตาไหล ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตัวโฆษกในงานให้เป็นเจย์ เลโน (ตัวจริงเสียงจริง) และนักร้องบาร์บรา สไตรแซนด์ (ตัวปลอมเสียงปลอม) มาร้องเพลง The Way We Were อย่างไม่ผิดเพี้ยน

 

นักแสดงสมทบหลายคนเป็นที่รู้จักกันดี มีทั้งแดนนี่ เดอวีโต, พอล ไรเซอร์, เจน ซีมอร์, แอนน์ มาร์เกรต, แนนซี่ เทรวิส, ฮาลีย์ โจเอล ออสเมนต์, แคธลีน เทอร์เนอร์, บ็อบ โอเดนเคิร์ก ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมีคนเด่นคนดังที่มาเล่นในบทที่เป็นตัวเองอย่างเช่น เจย์ เลโน, เอลเลียต กูลต์, แอลลิสัน แจนนีย์, แดน เลมอน, แบร์รี เลวินสัน, มอร์แกน ฟรีแมน ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น ฮาลี โจเอล ออสเมนต์ หรือดาราเด็กที่ดังมาจาก The Sixth Sense ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่เด็กน้อยเหมือนเดิมแล้ว มาเล่นเป็นร็อบบี้ หลานชายของนอร์แมน ซึ่งไปอยู่ในสำนัก Scientology (ซึ่งมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างทอม ครูส เป็นสาวกที่เหนียวแน่น)

ร็อบบี้ทำงานให้แก่องค์กรที่ถูกจัดให้เป็นลัทธิ หรือความเชื่อทางศาสนานี้มาหลายปี และหอบเงินก้อนโตหนีมาหลบอยู่ในคฤหาสน์ของคุณตานอร์แมน โดยมีคนจากสำนักตามล่าตัว นอร์แมนบอกให้เอาเงินไปคืน แต่ร็อบบี้บอกว่าไม่รู้จะหาทางคืนให้ได้ยังไงโดยไม่เกิดอันตรายแก่ตัว

นอร์แมนก็บอกว่า รู้จักคนที่จะช่วยจัดการเรื่องนี้ได้ ว่าแล้วเขาก็คว้าโทรศัพท์ต่อถึงคนที่เขาเรียกอย่างคุ้นเคยว่า ทอม โดยถามไถ่ถึงความสำเร็จในหนัง Mission : Impossible ตอนล่าสุด

ทิ้งให้คนดูเติมคำในช่องว่างเอาเองว่า ทอมคนนั้นคือใคร

 

ซีซั่นที่สามเพิ่งออกฉายและจบลงอย่างสมบูรณ์

ในท่ามกลางความสูญเสียทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นไปของชีวิตและการแต่งงานของลูกสาวคนเดียว ฝันอันสูงสุดในชีวิตก็กลายเป็นจริงสำหรับตัวละครหลักในเรื่อง เขาได้เล่นหนังของแบร์รี เลวินสัน ผู้กำกับฯ ในชีวิตจริง (Rain Man, Wag the Dog, The Natural, Bugsy) เหมือนจะเป็น “เพลงหงส์” (swan song) ของเขา

และหนังจบลงด้วยฉากชั้นเรียนการแสดงของแซนดี้ โคมินสกี…

…งดงาม ลงตัว และน่าอบอุ่นใจค่ะ