ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 เมษายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
ขณะที่หลายคนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
คงมีเราๆ ท่านๆ จำนวนไม่น้อยที่เลือกจะเสพความบันเทิงจากแพลตฟอร์มดูหนังออนไลน์ชื่อดังอย่าง “เน็ตฟลิกซ์”
นับเป็นเวลาประจวบเหมาะพอดีกับการที่ “เน็ตฟลิกซ์” ได้สิทธิ์นำภาพยนตร์แอนิเมชั่นชั้นเยี่ยมของ “สตูดิโอ จิบลิ” รวม 21 เรื่องมาเผยแพร่ลงในแพลตฟอร์มของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา, แคนาดา และญี่ปุ่น)
อย่างไรก็ตาม คำถามข้อหนึ่งที่คอหนังยังคงสงสัยคือ ทำไม “สตูดิโอ จิบลิ” จึงยอมดำเนินธุรกิจกับ “เน็ตฟลิกซ์”? ทั้งๆ ที่บริษัทผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นชื่อดังระดับโลกจากประเทศญี่ปุ่นมักมีนโยบายการจัดจำหน่ายผลงานในเชิง “อนุรักษนิยม” มาโดยตลอด
ครั้งหนึ่ง เมื่อ “ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน” ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวู้ด (ซึ่งปัจจุบันต้องโทษจำคุกในข้อหากระทำอาชญากรรมทางเพศ) เคยแสดงความต้องการว่าเขาจะทำการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนของหนังแอนิเมชั่นเรื่อง “Princess Mononoke” ฉบับเข้าฉายในสหรัฐ
ปฏิกิริยาที่ “สตูดิโอ จิบลิ” สนองตอบไปถึง “ไวน์สตีน” ก็คือ ดาบซามูไรหนึ่งเล่มพร้อมข้อความระบุชัดเจนว่า “ไม่ตัด”
นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า “ฮายาโอะ มิยาซากิ” คนทำหนังระดับตำนานและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “สตูดิโอ จิบลิ” นั้นมีท่าทีไม่ค่อยเป็นมิตรกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น สมาร์ตโฟน และไอแพดมากนัก

แล้วเหตุใด “มิยาซากิ” และทีมงาน จึงยอมโอนอ่อนต่อ “เน็ตฟลิกซ์”?
ผู้ที่อธิบายเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้อย่างกระจ่างแจ้ง คือ “โตชิโอะ ซูซูกิ” เพื่อนสนิทของ “มิยาซากิ” โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง “สตูดิโอ จิบลิ”
“ซูซูกิ” เปิดเผยรายละเอียดของดีลธุรกิจกับทาง “เน็ตฟลิกซ์” เมื่อเขาไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือภาพเล่มใหม่ของ “พิพิธภัณฑ์จิบลิ” โดยระบุว่า พื้นที่เช่นโรงภาพยนตร์และสื่อกลางอย่างดีวีดียังถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่กระบวนการจัดจำหน่ายแบบอื่นๆ หรือทางออนไลน์ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ในห้วงเวลาที่กระแสความคิดเรื่องการต่อต้าน-ปฏิเสธกระบวนการสตรีมหนังบนแพลตฟอร์มออนไลน์ดูเหมือนจะตกยุคไปแล้ว
ทว่าปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ผลักดันให้ “สตูดิโอ จิบลิ” ยอมรับข้อเสนอของ “เน็ตฟลิกซ์” ก็ได้แก่ “เรื่องเงิน”
“ซูซูกิ” เอ่ยปากกล่อม “มิยาซากิ” ด้วยข้อแลกเปลี่ยนสุดเรียบง่ายว่าเม็ดเงินที่ทาง “เน็ตฟลิกซ์” ทุ่มทุนมาให้นั้น สามารถนำเอามาปิดโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ของเพื่อนรักได้อย่างสบายๆ
“ฮายาโอะ มิยาซากิ กำลังทำหนังเรื่องใหม่ ซึ่งใช้เวลาผลิตยาวนานมากๆ สิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือ เราต้องการทุนสร้างจำนวนมหาศาลเช่นกัน ผมจึงบอกเขา (มิยาซากิ) ว่าเม็ดเงินของเน็ตฟลิกซ์มีมากพอที่จะนำมาสร้างสรรค์หนังเรื่องนั้นจนจบ พอผมพูดแค่นั้น เขาก็ตอบว่าโอเค ฉันคงไม่มีอะไรจะคัดค้านอีกแล้ว”
โปรดิวเซอร์แห่ง “สตูดิโอ จิบลิ” เล่า
ในมุมมองของ “ซูซูกิ” ภารกิจชักชวนให้ “มิยาซากิ” ยอมปล่อยหนังของ “สตูดิโอ จิบลิ” ลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นไม่ใช่เรื่องลำบากยากเข็ญอะไรมากมาย
“ประเด็นแรกเลยคือ ฮายาโอะ มิยาซากิ เขาไม่รู้ชัดๆ หรอกว่าบริการสตรีมมิ่งวิดีโออย่างเน็ตฟลิกซ์นั้นคืออะไร เพราะเขาไม่เคยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไม่เคยใช้สมาร์ตโฟน ดังนั้น พอคุณพูดกับเขาถึงเรื่องการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอล เขาเลยทำได้แค่นั่งฟังมันอย่างไม่ค่อยเข้าใจมากนัก”
การเจรจาต่อรองเช่นนี้วางพื้นฐานอยู่บนโครงสร้างการทำงานของ “สตูดิโอ จิบลิ” ซึ่ง “ซูซูกิ” จะรับผิดชอบภารกิจด้านบริหารการเงินและการจัดจำหน่าย ขณะที่ “มิยาซากิ” มุ่งเน้นความใส่ใจไปที่กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน
ข้อสงสัยท้ายสุดที่หลายคนอยากทราบก็คือ ทำไม “สตูดิโอ จิบลิ” จึงเลือก “เน็ตฟลิกซ์” ไม่ใช่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์เจ้าอื่น? (นอกจากเรื่องเงิน)
“กับเน็ตฟลิกซ์ เราได้เริ่มเห็นภาพยนตร์ใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับบริการสตรีมมิ่งโดยเฉพาะ ซึ่งผมมองว่านั่นเป็นสิ่งน่าสนใจ ขณะเดียวกันเน็ตฟลิกซ์ยังตัดสินใจอนุมัติให้จัดสร้างหนัง ซึ่งไม่มีทางได้รับความเห็นชอบจากบริษัทผลิตภาพยนตร์ทั่วไปในยุคก่อนหน้านี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยการจัดจำหน่ายในระบบออนดีมานด์ และผมก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ”
หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “สตูดิโอ จิบลิ” อธิบาย
และสำหรับผู้กำกับฯ อาวุโสระดับตำนาน เช่น “ฮายาโอะ มิยาซากิ” ซึ่งยอมตัดสินใจยกเลิกประกาศเกษียณอายุของตนเอง แล้วหวนกลับมาสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องสุดท้าย เพื่อเป็นมรดกตกทอดไปสู่หลานๆ
ในที่สุดเขาก็จะสามารถปิดฉากชีวิตการทำงานได้อย่างสวยงาม ด้วยเงินทุนของผู้จัดจำหน่ายหนังบนโลกดิจิตอล
ข้อมูลจาก https://soranews24.com/2020/03/09/why-did-hayao-miyazaki-agree-to-release-studio-ghibli-anime-films-on-netflix/