“กติกา” ที่ต้องจำนน

เพราะการร่างกฎหมายว่าด้วยโครงสร้างอำนาจรัฐครั้งใหม่ถูกวางกรอบให้ลดบทบาทของพรรคการเมือง และเพิ่มบทบาทให้คนบางกลุ่มบางพวกที่ไม่ถนัดกับการลงสมัครรับเลือกตั้งจากประชาชน

ทำให้ทุกอย่างถูกออกแบบมาเพื่อการนี้

ลงรายละเอียดแม้กระทั่งกรอบความคิดในการเลือก

แม้ ส.ส.จะมี 2 แบบเหมือนเดิม คือ ส.ส.เขตพื้นที่ กับ ส.ส.ในบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ แต่การเลือกแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

แต่เดิมผู้มีสิทธิจะได้รับบัตรลงคะแนน 2 ใบ ใบหนึ่งใช้เลือกผู้สมัคร อีกใบหนึ่งใช้เลือกพรรค ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้สมัครของพรรคที่เลือก หรือพรรคของผู้สมัครที่เลือก

มีอิสระในการเลือกมากกว่า

แต่ครั้งนี้มีบัตรให้ใบเดียว กาเบอร์ไหนหมายถึงเลือกตั้งคนทั้งพรรคนั้นไปเลย

แถมยังชี้เป็นชี้ตายกันด้วยระบบการนับคะแนนแบบสัดส่วนผสม ซึ่งยุ่งยากทำความเข้าใจสำหรับคนทั่วไป หากอยากรู้เรื่องต้องฟังอธิบายกันยืดยาว

แต่ที่สุดแล้วเหตุผลที่ชัดเจนคือ ปิดโอกาสที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะได้คะแนนเสียงมากกระทั่งมีอำนาจต่อรองเด็ดขาดในการจัดตั้งรัฐบาล

ต้องเป็นรัฐบาลผสมที่พรรคแกนนำไม่มีอำนาจต่อรองอะไรมากนัก

นั่นเป็นการสร้างความยุ่งยากให้พรรคการเมือง เพราะแค่ชนะเลือกตั้งไม่พอ จะต้องมีพรรคที่พร้อมเป็นแนวร่วมอยู่เพียงพอด้วย

โอกาสการเป็นผู้นำรัฐบาล จึงเป็นของผู้กำหนดเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งมากกว่า

แต่ความยุ่งยากในเรื่องบัตรเลือกตั้งที่เหลือใบเดียวนั้น ยังเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้สิทธิด้วย

ไม่เพียงกติกาที่เปลี่ยนไปซึ่งยังทำความเข้าใจกันไม่ทั่วถึง จนคนจำนวนมากยังไม่รับรู้

ซึ่งล่าสุด “นิด้าโพล” สำรวจเรื่องนี้มา ในคำถามที่ว่า “ท่านทราบหรือไม่ว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2562 ท่านต้องกาบัตรลงคะแนนเพื่อเลือก ส.ส.ได้เพียง 1 ใบ” ร้อยละ 51.55 ตอบว่าทราบ ขณะที่ร้อยละ 46.77 ตอบว่าไม่ทราบ และร้อยละ 1.68 ตอบว่าไม่แน่ใจ

เท่ากับมีคนที่ยังไม่รับรู้เรื่องนี้ครึ่งต่อครึ่ง

ความแปรเปลี่ยนที่ก่อความยุ่งยากมากกว่านั้นคือ ก่อนหน้านั้นเบอร์ของพรรคจะเป็นเบอร์เดียวกันทุกเขตทั่วประเทศ แต่ครั้งนี้แต่ละคน แต่ละพรรค จะคนละเบอร์ การทำความเข้าใจกับประชาชนจะโกลาหลมากขึ้น

ผลสำรวจประชาชนเกินกว่าครึ่ง คือร้อยละ 67.20 ไม่ทราบเรื่องนี้ มีร้อยละ 30.88 เท่านั้นที่ทราบ ที่ไม่แน่ใจร้อยละ 1.84 และที่ไม่ตอบร้อยละ 0.08

เมื่อถามว่า แบบนี้จะมีผลดีหรือผลเสียมากกว่า ร้อยละ 45.57 ตอบว่าผลเสียมากกว่า ร้อยละ 24.82 ตอบว่าไม่ต่างกัน มีร้อยละ 20.67 เท่านั้นที่ตอบว่าผลดีมากกว่า ร้อยละ 0.80 ไม่แน่ใจ

และเมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้หมายเลขผู้สมัครของพรรคการเมืองแต่ละพรรคเป็นหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ ร้อยละ 56.66 ตอบว่าเห็นด้วย ร้อยละ 24.90 เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ตอบว่าไม่เห็นด้วยมีแค่ร้อยละ 14.61 ร้อยละ 2.15 ตอบว่าไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.68 ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

สรุปรวมความจากผลโพลชิ้นนี้ หมายถึง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกติกาการเลือกตั้งครั้งใหม่

ซึ่งหากเป็นในยุคสมัยที่เสียงของประชาชนได้รับความใส่ใจที่จะรับฟัง อย่างน้อยจะต้องมีการพูดถึงเรื่องนี้กันเอาจริงเอาจัง และกดดันให้รับฟังประชาชนมากกว่านี้

แต่ยุคสมัยเช่นนี้ไม่เป็นอย่างนั้น

แม้จะไม่เห็นด้วยกับกติกาที่สร้างความยุ่งยากให้มากกว่า

ทว่าที่ประชาชนจะทำได้คือ เรียนรู้กติกาของเกมที่ตัวเองไม่ได้กำหนดและไม่ชอบ

และตัดสินใจตามกติกานั้นให้ตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด

แม้ว่าไม่ว่าจะจัดการอย่างไร โอกาสที่ผลจะเบี่ยงเบนไปเพราะเหลี่ยมเล่ห์ของกติกายังทำให้บิดไปได้อีกมากมาย

ก็ไม่มีทางเลือก ไม่สามารถเลือกได้