ขอแสดงความนับถือ

เป็นอันว่า เทศกาลรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในฉนวนกาซา

ต้องดำเนินไปท่ามกลาง “สงคราม”

หลังข้อตกลงหยุดยิงในสงคราม ระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ประสบความล้มเหลว

แม้ว่าจะมีสัญญาณดีอยู่บ้าง ที่การเจรจาหยุดยิง ยังมีความพยายามต่อไป

เพื่อให้เทศกาลรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ได้มีห้วงสันติสุขบ้าง

และหวังต่อไปว่า คู่ขัดแย้ง จะสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้ตลอดไป

แต่ก็ดูมีความหวังริบหรี่เหลือเกิน

อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวเรา

แต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่า ยังมีตัวประกันไทยที่ยังถูกจับตัว และชีวิตยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย

ขณะเดียวกันผลกระทบจากเหตุความไม่สงบก็แผ่กระจายไปทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

เราจึงไม่อาจเมินเฉยกับความไม่สงบนี้ได้

 

เมื่อกล่าวถึงเทศกาลรอมฎอน ท่ามกลางควันปืน-ควันระเบิด

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเจรจาสันติภาพและข้อเสนอทางออกทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้

ได้นำเสนอบทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ด้วย (หน้า 88) เรียกร้องขอ “รอมฎอนสันติสุข” ด้วย

เป็น “รอมฎอนสันติสุข” ที่มิได้ไกลตัวเราอย่างฉนวนกาซา

แต่อยู่ใกล้ตัวเรา

นั่นคือ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของเรานี่เอง

หลายคนอาจไม่ทราบว่า เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ที่พี่น้องมุสลิมมีความประสงค์อยากจะปฏิบัติศาสนกิจทั้งเดือน อย่างมีความสุข สันติสุขนั้น

กลับปรากฏว่า รัฐบาลไทยและแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น)

ไม่อาจบรรลุข้อตกลงลดปฏิบัติการทางทหารในช่วงเดือนถือศีลอด

หรือที่ทางการไทยเรียกว่า “รอมฎอนสันติสุข” ได้

ถือเป็นปีที่สองติดต่อกัน ที่ข้อตกลงนี้ “รอมฎอนสันติสุข” ไม่อาจเกิดขึ้น

เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ จึงอาจมีความไม่สงบได้ตลอดเวลา

 

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลไทย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกาศจะเดินหน้า “ฝ่ายเดียว” ในการสร้าง “รอมฎอนสันติสุข”

ทั้งนี้ พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า

“การสร้างบรรยากาศที่ดีก่อนที่จะเข้าสู่ห้วงเดือนรอมฎอน ถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทางคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยื่นให้กับคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นที่ผ่านมา จะดำเนินการไปจนถึงเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์เพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนทุกศาสนิก สามารถปฏิบัติภารกิจตามความคิดความเชื่ออัตลักษณ์ของทุกคนในทุกเทศกาลได้อย่างเต็มที่”

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม กรมราชทัณฑ์ได้ย้ายผู้ต้องขังคดีความมั่นคง จังหวัดชายแดนภาคใต้ 34 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางบางขวาง ไปควบคุมตัวในเรือนจำตามภูมิลำเนา คือย้ายไปยังเรือนจำยะลา 3 ราย ปัตตานี 4 ราย นราธิวาส 7 ราย และสงขลา 20 ราย

ถือเป็นของขวัญก่อนเดือนรอมฎอน

ซึ่งท่าทีของรัฐบาลไทยนี้หวังว่า จะทำให้ข่าวร้ายในห้วงเดือนรอมฎอนลดน้อยลง

หรือไม่เกิดขึ้นเลยจะดีอย่างยิ่ง

 

ปรากฏการณ์ไม่มีข้อตกลง “รอมฎอนสันติสุข” ติดต่อกันเป็นปีที่สอง

สะท้อนว่าเส้นทางสันติสุข สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังอยู่อีกอย่างยาวไกล

จำเป็นต้องมีความอดทน อดกลั้น

และจำเป็นต้องมีสิ่งที่ “สุรชาติ บำรุงสุข” นำเสนอในยุทธบทความ ฉบับนี้

นั่นก็คือ

“การจะดับ ‘ไฟใต้’ ได้จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

การดับไฟสงครามจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งรองรับ

เพื่อทำให้การขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ปัญหาเกิดเป็นจริงได้…”

แต่คำถามก็คึอ

“ยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง” มีหรือไม่ •