ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

“ยายจะไปเยี่ยมทักษิณ ไปด้วยกันก่อ”

“ยายจะไปยังไงเจ้า” หญิงวัยห้าสิบถาม

“มีคนจะพาไป เห็นว่ากำลังรวบรวมคนกันอยู่” ยายพรอธิบาย ส่งสายตาไปทิศทางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ไม่ได้ตรงอะไรหรอก เพราะแกมองไปทางทิศตะวันตะวันตก ซึ่งขณะนี้พระอาทิตย์กำลังลดตัวลงจะลับหายไปจากทิวไม้

อดีตนายกฯ ทักษิณเดินทางกลับมาประเทศไทยหลายวันแล้ว ปรารภว่าอยากกลับมาเลี้ยงหลาน จึงยอมมาติดคุก แทนการร่อนเร่พเนจรอยู่เมืองนอกซึ่งเป็นเวลาหลายปีแล้ว

….

“ถึงยังไงคนอยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็ไม่สุขสบายหรอก” ยายพรแสดงความคิดเห็น

แกเองก็เคยไปจากบ้านเกิดหลายปี ตอนนั้นตัดสินใจแต่งงานกับหนุ่มกรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่กับสามีที่เมืองหลวงเจ็ดปี

ซึ่งเป็นเจ็ดปีที่แสนทรมาน ถึงสามีรักและดูแลอย่างดีก็ตาม แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่เชียงใหม่ บางเขนไม่ใช่สันกำแพง ซึ่งแกคุ้นเคยมาช้านาน

ดีเอ็นเอของแกคือเชียงใหม่ เลือดเนื้อจิตวิญญาณของแกคือสันกำแพง

ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนสถานที่อยู่ที่กินที่อาศัยแกก็ไม่คุ้นชินสักที จวบกระทั่งแกตัดสินใจว่าแกจะต้องกลับมาเชียงใหม่ในปีที่เก้าของการแต่งงาน โดยจะขออนุญาตสามี

แต่แล้วแกก็ไม่ต้องขออนุญาต เพราะสามีถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียก่อน…

นั่นคือบางส่วนจากเรื่องสั้น “จะไปเยี่ยมทักษิณ” โดย อรุณธารา ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

แม้โครงเรื่องจะอิงกับสถานการณ์ “จริง”

แต่การ “จะไปเยี่ยมทักษิณ” ของยายพร เป็น “จินตนาการ”

เรื่องสั้นแม้จะเป็นเรื่องแต่ง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเชื่อมโยงกับความเป็นไป “จริง” ของ “สังคม” ด้วย

ดังนั้น เรื่องสั้น จึงเสมือน “บันทึก” ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่งของสังคมด้วย

เรื่องสั้น จึงสะท้อนสังคม

 

เช่นเดียวกับ กวี-กระวาด ที่เคียงคู่กับเรื่องสั้น “จะไปเยี่ยมทักษิณ” ในหน้า 56-57

เป็น กวี-กระวาด ที่เขียนโดย “ธรรมรุจา ธรรมสโรช”

“จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีกระทรวงบุรุษ”

กราบเรียนท่านรัฐมนตรี

กระทรวงบุรุษแห่งชาติ

ท่านอยากเห็นความเป็นธรรม

หรืออยากกำอำนาจ

ท่านอยากเห็นทุกเพศ

โตบนเศรษฐกิจร่วมกัน

อยากเห็นทารกเกิดใหม่

ท่านคงอยากเห็นเช่นนั้น

ท่านอยากเห็นอัตราเกิด

ว่องไวเหมือนหลังสงคราม

แต่เศรษฐกิจล้ม

สังคมก็เสื่อมทราม…

 

นี่ถือเป็นกวีที่สะท้อนสังคม ไม่ต่างจากเรื่องสั้น “จะไปเยี่ยมทักษิณ” เช่นกัน

งาน “ประพันธ์” ทั้ง เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ แม้จะเป็น “จินตนาการ”

แต่เป็นจิตนาการที่ไม่ได้ล่องลอยหลุดโลก

หากแต่ดำรงความหมายของวรรณกรรมเพื่อชีวิต วรรณกรรมเพื่อสังคม อย่างใกล้ชิด

เพียงแต่อาจมีหมายเหตุต่อท้ายไว้สักนิดว่า คำว่าเพื่อชีวิต และเพื่อสังคมนั้น คงมิได้ผูกมัดไว้เฉพาะ “การเมือง”

ชีวิตและสังคม โดยเฉพาะในห้วงปัจจุบัน กินความหมาย และมีขอบเขตกว้างขวาง ทั้งในฐานะปัจเจกและพหุสังคม

ตั้งแต่ในมุ้งที่บ้าน ไปถึง “เตียง” ในทำเนียบ

บทบาทของ กวี-เรื่องสั้น ทั้ง “การบันทึก” และ “สะท้อน” สังคม จึงมีอย่างสูงยิ่ง

 

 

ด้วยเหตุนี้ องค์กรในเครือบริษัทมติชน ไม่ว่า มติชน มติชนสุดสัปดาห์ ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน และศูนย์ข้อมูล

จึงผนึกกำลัง เดินหน้า เปิดเวทีประกวด เรื่องสั้น-กวีนิพนธ์ ชิง “มติชนอวอร์ด ปี 2567” ขึ้นอีกครั้ง

เป็นอีกครั้งที่ต้องเน้นว่า ไม่ใช่การประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์เท่านั้น

หากแต่ในปี 2567 นี้ยังได้ขยายขอบเขตจากงานวรรณศิลป์ไปยังงานศิลปะ การ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง อีกสาขาหนึ่งด้วย

“มติชนอวอร์ด ปี 2567” จะมีรายละเอียด และกฎกติกาอย่างไร

พลิกอ่านที่หน้า 6

โปรดอย่ารอคอย

แต่จงติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน •