ขอแสดงความนับถือ

ในวาระ 3 เดือนรัฐบาล

มีมุมมองต่อรัฐบาล แตกต่างกัน

แตกต่างทั้งในเวที สังคม วงกว้าง

และแตกต่างทั้งในเวที “มติชนสุดสัปดาห์”

 

กล่าวสำหรับเวทีมติชนสุดสัปดาห์

คำ ผกา ชัดเจนอยู่แล้ว

ชัดเจนในฐานะผู้ประกาศตัว “เชียร์รัฐบาลตัวยง”

จึงไม่ปิดบังอำพรางว่า เต็มไปด้วยลำเอียง และมีฉันทาคติต่อรัฐบาล

ตัวอย่างที่ คำ ผกา ยกมาเชียร์ “อย่างยิ่ง” ก็เช่น

รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้เศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยนั้น

ทำให้งานของนายกฯ เศรษฐา แยกออกจากงานของพรรคเพื่อไทย

มีข้อดีคือ ทำให้นายกฯ เศรษฐา โฟกัสกับการบริหารประเทศ

ไม่ต้อง “วุ่นวาย” เรื่องการบริหารพรรค

ไม่ต้องใช้พลังงานไปกับการบริหาร ส.ส. หรือการเลือกตั้งใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

และภาระการบริหารพรรคให้ประสบความสำเร็จ เป็นภาระของหัวหน้าพรรคคนใหม่คือ แพทองธาร ชินวัตร

นายกฯ เศรษฐาจึงมีภาพของนายกฯ ซีอีโอมากกว่านายกฯ ที่เป็น “นักการเมือง”

เมื่อเป็นนายกฯ ซีอีโอ สไตล์การทำงานจึงมีลักษณะเชิงรุกเพื่อบรรลุผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าการทำงานเพื่อผล “ทางการเมือง”

เมื่อเป็นการทำงานเชิงรุกที่พุ่งเป้าไปที่สัมฤทธิผลที่จับต้องได้

ผลงานแบบควิกวินในสายตา “คำ ผกา” จึงเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนมากมาย

 

อย่างไรก็ตาม หากไปอ่าน “3 เดือน เหมือน 3 ปี?” ของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร”

สัมผัสได้ถึงมุมมองอัน “แตกต่าง”

เป็นความแตกต่างที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” มองว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการที่พรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิม และเป็นกลไกที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร

ทำให้ด่านแรกของการเข้ามาเป็นรัฐบาลเริ่มต้นจากความผิดหวังและไม่ไว้วางใจว่า จะเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือไม่

พรรคเพื่อไทยจึงต้องพยายามให้เหตุผลต่อประชาชน คือ จะใช้โอกาสของการเป็นรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

ด้วยคำสัญญามากมาย

 

แต่คำสัญญามากมายดังกล่าว “สมชัย ศรีสุทธิยากร” เห็นว่า ไม่ใช่สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ทันที หรือโดยเร็ว

บางเรื่อง เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการศึกษาอย่างรอบคอบ

บางเรื่อง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ต้องแก้ไข

บางเรื่อง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคณะบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจและไม่อยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายการเมือง

ซึ่งพรรคเพื่อไทยย่อมรู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องที่สามารถดำเนินการให้สำเร็จในเวลาอันสั้น

แต่เพราะต้องฟื้นคืนศรัทธา และความรู้สึกที่เสียไปจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งรีบทำตามที่รับปากไว้

แม้จะรู้ดีว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นเพียงการขายผ้าเอาหน้ารอด

เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว ไม่ยั่งยืน

แต่ต้องดำเนินการทันทีแม้จะเกิดปัญหาสะสมในอนาคตก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

ระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล

จึงเป็น 3 เดือนของการตอบคำถามถึงคำสัญญาในนโยบายต่างๆ

ว่า “ทำสำเร็จ” แล้วหรือไม่

ทั้งนี้คำว่า “สำเร็จ” นั้น “สมชัย ศรีสุทธิยากร” เน้นว่าคือได้ลงมือ และทำจนประสบความสำเร็จ

ไม่ใช่ผลงานฉาบฉวย สุกเอาเผากิน ขายผ้าเอาหน้ารอด อย่างที่เป็นอยู่

“คิดใหญ่ ทำเป็น” ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ ไม่ใช่จากความคิด และการพูด

 

นี่ถือเป็นมุมมอง 3 เดือนรัฐบาล ที่มากด้วยความแตกต่าง

และความแตกต่างนี้ ก็น่าจะเกิดในหมู่ผู้อ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” ด้วย

ซึ่งก็หวังว่าต่างฝ่ายต่างจะ “ล้างหูฟัง”

และถกแถลงกันอย่างมีโยนิโสมนสิการ •