ขอแสดงความนับถือ

2 คอลัมน์ ในมติชนสุดสัปดาห์

นำเสนอเนื้อหาสอดคล้องกัน

หนึ่ง เป็นบทความพิเศษ ของ จักรกฤษณ์ สิริริน

หนึ่ง เป็นคอลัมน์ Cool Tech ของ จิตต์สุภา ฉิน

เขาและเธอ ว่าด้วย “Gen AI”

น่าสนใจ

 

จักรกฤษณ์ สิริริน ย้ำเตือนข้อมูลการแบ่ง Generation

เก่าที่สุดคือ Silent Gen หมายถึงผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2468-2488

Baby Boomer หมายถึงผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2489-2507

Generation X หมายถึงผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2508-2523

Generation Y หมายถึงผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2524-2539

Generation Z หมายถึงผู้ที่เกิดปี พ.ศ.2540-2555

Generation Alpha หมายถึงผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา ซึ่งปีนี้จะมีอายุ 10 ขวบ

แล้ว Generation AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) มาจากไหน

 

บทความของ Bill Gates

และในหนังสือ The AI Generation ของศาสตราจารย์ ดร. Olaf Groth แห่ง Hult International Business School ที่เขียนร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. Mark Nitzberg ผู้อำนวยการ Center for Human Compatible Artificial Intelligence แห่ง University of California, Berkeley

ให้นิยามตรงกันว่า Generation AI คือ Gen Z + Gen Alpha

เป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตมากับ AI

มีปริมาณรวมกันเกือบ 4,000 ล้านคน จากประชากรโลก 8,000 ล้านคน

Generation AI จึงมีเกือบครึ่งโลก

ยังไม่นับ Generation อื่นๆ ที่สนใจศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ และใช้งาน AI อีกนับพันล้านคน

หนังสือ The AI Generation เรียกปัจจุบันว่าเป็น “ยุคทอง” ของ AI

เป็นยุคที่มนุษยชาติได้ถูกปรับเปลี่ยนค่านิยม ความไว้วางใจ อำนาจ และแม้กระทั่งความรักไปยัง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI มากขึ้นเรื่อยๆ

คำถามก็คือ เมื่อมนุษย์เรายอมให้เครื่องจักรคิด และตัดสินใจแทนเรามากขึ้น

เราต้องเผชิญหน้ากับอะไร

โดยเฉพาะข้อกังวลเกี่ยวกับจริยธรรม AI ที่ยังคลุมเครือ และยังเป็นคำถามตัวโตๆ

ดังที่ “จิตต์สุภา ฉิน” เตือนไว้ในคอลัมน์ของเธอ

“Gen AI ทำเรื่องดีก็ได้ แต่เรื่องร้ายก็เก่ง”

“จิตต์สุภา ฉิน” ยกตัวอย่างถึง Generative AI อย่าง ChatGPT ที่มีความสามารถและเก่งกาจในหลากหลายด้าน ทั้งช่วยค้นคว้าหาคำตอบ ช่วยเขียน ช่วยให้ไอเดีย ช่วยวาดภาพ หรือช่วยแต่งเพลง

ศักยภาพของมันไม่มีขอบเขตจำกัด

เพียงแค่เราจินตนาการออกว่าจะใช้มันช่วยทำอะไรได้บ้าง

มันก็จะช่วยได้ตามนั้นเสมอ

 

“จิตต์สุภา ฉิน” จึงเตือนว่า เครื่องมือเก่งๆ คงไม่ได้ถูกหยิบมาใช้สร้างแต่สิ่งดีๆ

มันก็มีความสามารถในการช่วยเราทำเรื่องร้ายๆ ได้เหมือนกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ออกโรงเตือนว่าช่วงหลังมานี้เราเริ่มเห็นอาชญากร นักต้มตุ๋นต่างๆ หันมาใช้ Gen AI ช่วยหลอกลวงคนมากขึ้น

เว็บไซต์ BlackBerry เผยผลวิจัยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ระบุว่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงไอทีที่เข้าร่วมในการสำรวจจากอเมริกาเหนือ อังกฤษ และออสเตรเลียเชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นการโจมตีทางไซเบอร์ที่ทำได้สำเร็จโดยเป็นผลงานมาจาก ChatGPT ล้วนๆ ภายในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

และ 71 เปอร์เซ็นต์ก็เชื่อว่ามีประเทศที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการโจมตีประเทศอื่นๆ อยู่แล้วในตอนนี้

ขณะที่ ChatGPT ยังสามารถเป็นเครื่องมือที่โจรออนไลน์ใช้ช่วยหลอกคนได้อีกหลายวิธี

และคงเพิ่มเหยื่อให้หลงเชื่อ อีกมหาศาล

แล้วเราจะตั้งรับและรับมือได้ดีแค่ไหนคงต้องเฝ้าติดตามยุค Gen AI กันใกล้ชิด

อันรวมถึงประเทศไทยเราด้วย

เราจะเผชิญด้านไหนมากกว่ากันระหว่างมืดและสว่าง

แต่ดูแนวโน้มจะออกไปทางมืดและเทา เสียมากกว่า

เพราะลำพังแค่ระดับพื้นๆ อย่าง “คอลเซ็นเตอร์” มีคนไทยตั้งแต่นายกฯ ไปถึงชาวบ้านตาดำๆ

ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง กันถ้วนทั่ว–ไม่ใช่หรือ •