ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ คาบเกี่ยวกับเทศกาลลอยกระทง 27 พฤศจิกายน 2566

คอลัมน์ เครื่องเคียงข้างจอ ของ “วัชระ แวววุฒินันท์” ว่าด้วย “หนุ่มเมืองกรุง”

มีคำอธิษฐานในวัน “ลอยกระทง”

“…ขอให้เมืองไทยไปโลด

รุ่งเรืองช่วงโชติแจ่มจรัส

ร่วมกันทำตามความถนัด

ไม่ว่าฝ่ายรัฐ หรือว่า ฝ่ายค้าน

ที่สุดคือ ‘ประชาชน’

ให้ได้หลุดพ้นความจนยาก

ให้ได้ลืมตาอ้าปาก

ข้ามความลำบากกันดาร”

 

หลังลอยกระทงหนึ่งวัน 28 พฤศจิกายน

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน บอกจะมีการแถลงข่าวใหญ่ ช่วยแก้ปัญหาหนี้ประชาชน

หวังว่า คำอธิษฐาน

“…ให้ได้หลุดพ้นความจนยาก

ให้ได้ลืมตาอ้าปาก

ข้ามความลำบากกันดาร”

ของคนไทย ที่มีหนี้สินเรือนครัว ติดอันดับต้นๆ ของโลก จะเป็นจริง

อย่าได้เป็นเพียงกระทง “หลงทาง”

และที่สุด ก็กลายเป็น “ขยะ”

สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม

กลายเป็นภาระให้ต้อง “กำจัด” กันอีก

 

ว่าไปแล้ว ทั้ง “หนี้” ทั้ง “ขยะ” เป็นเรื่อง “มหายาก” ที่จะแก้ไข

แต่ก็เอาใจช่วยนายกฯ ที่แม้เรื่องแจกเงิน 10,000 บาท จะยังไม่รู้หมู่รู้จ่า

แล้วยังมาชูธงแก้ปัญหาหนี้อีก

ก็เลยขออธิษฐานเสริมเข้าไปว่า คงจะลุล่วงไปทั้ง 2 เรื่อง

มหายากแค่ไหน ก็คงไม่มีทางเลือก

เดินหน้าลุยไปสถานเดียว

ซึ่งโลกนี้ก็มีตัวอย่างดีๆ ให้ดูว่าปัญหาเรื่องยากๆ อย่างปัญหา “ขยะ” หากตั้งใจ และมุ่งมั่น

ก็สามารถทำให้ปัญหาขยะแก้ได้

 

คอลัมน์ “สิ่งแวดล้อม” ของ “ทวีศักดิ์ บุตรตัน” ในสัปดาห์นี้ พาไปญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น ที่วันนี้รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สามารถแก้ปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จนเป็นประเทศที่สะอาด ในระดับแนวหน้าของโลก

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ต้องมีความแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาอย่างมาก

ทวีศักดิ์ บุตรตัน พาย้อนไปในอดีต

ญี่ปุ่นเองไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษมากเท่าไหร่

เพราะหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ

รัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้น เร่งฟื้นฟูประเทศในทุกวิถีทาง

ทศวรรษ 1950 การพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มเห็นผล จากการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในแทบทุกด้าน

ไม่ว่าเป็นเคมี ไฟฟ้า ฟิสิกส์ ชีววิทยา หรือเกษตรกรรม

นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นหลายคนได้รับรางวัลโนเบล

และมีการนำความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้มาจดลิขสิทธิ์ต่อยอดในอุตสาหกรรมต่างๆ จนประสบความสำเร็จ

 

แต่ความสำเร็จในช่วงทศวรรษ 1960 นั้น

ได้นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับวิกฤต

มีการปล่อยน้ำเสีย ขยะล้นเมือง ควันพิษดำโขมง

เจ้าของโรงงานเอาขยะมาเททิ้งในบ่อขยะจนเกิดไฟไหม้ใหญ่

เกิดโรคที่รู้จักกันทั่วโลก ไม่ว่า โรคมินามะตะ ที่เกิดจากการปล่อยสารปรอทลงในทะเล สะสมในสัตว์น้ำ เช่น ปลา หอย เมื่อคนจับไปกิน สารปรอททำลายสมอง ตับ และเด็กแรกคลอดพิการ

หรือโรค “อิไต อิไต” จากการปล่อยสารแคดเมียมและโลหะหนักลงในแม่น้ำ ชาวบ้านนำน้ำไปดื่มกิน สารพิษทำลายตับไต เกิดอาการเจ็บปวดจนร้อง “อิไต อิไต” ออกมาดังๆ

ผู้คนจึงเรียกโรคนี้ว่า “อิไต อิไต”

 

สิ่งแวดล้อมเป็นพิษในญี่ปุ่นเมื่อ 70 ปีก่อนมีสภาพเลวร้ายกว่าสิ่งแวดล้อมเป็นพิษของไทยในเวลานี้

แต่ผ่านไป 70 ปี

ญี่ปุ่นพลิกสู่ประเทศสะอาด ปลอดภัย เหนือกว่าไทยลิบลับ

ญี่ปุ่นทำอย่างไร และวันนี้เป็นอย่างไร พลิกอ่านคอลัมน์สิ่งแวดล้อม ที่หน้า 27

“ยาก” แต่ทำได้

ซึ่งหวังว่าสักวันจะเกิดกับประเทศไทยบ้าง

ระหว่างที่รอ และหวัง ก็อธิษฐานไปพลางๆ ก่อน

ขอให้กระทง “แจกเงิน-แก้หนี้” ไม่หลงทาง

และอย่ากลายเป็น “ขยะ” ให้ต้อง “กำจัด” กันอีกเลย เพี้ยง… •