ขอแสดงความนับถือ

การรำลึก 50 ปี 14 ตุลาคม 2516 ผ่านไปแล้ว

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ จึงขอขมวดปมวาระอันเป็นประวัติศาสตร์นี้

โดยเพิ่มเนื้อหาพิเศษ เป็นกำนัลแก่ผู้อ่าน

ตั้งแต่การย้อนชวนไปหาความหมาย และตำนาน

ของคำว่า ‘คนเดือนตุลา’

ที่ ‘เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ ปลุกสร้างขึ้น

พร้อมชวนให้คำถาม

คนเดือนตุลาจบไปแล้ว?

และทำไมคนที่เคยศรัทธาสิ่งเดียวกัน กลับเปลี่ยนไป?

 

ขณะที่คนรุ่นใหญ่ คือ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

กับคนรุ่นใหม่ คือ “ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” หรือมายด์

จะมาแลกเปลี่ยนกันว่า 50 ปี 14 ตุลาคน 2516

การเมืองไทยวนอยู่ที่เดิม?

คนรุ่นใหม่จุดไม่ติดแล้ว?

จริงไหม

เช่นเดียวกับ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ

จะมาช่วยค้นหาคำตอบ ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่อิน “14 ตุลา”

ส่วนอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

พาย้อนไปให้รู้เขารู้เรา

อะไรคือ “ระบอบถนอม”

 

ส่วนผู้ที่ผ่านเหตุการณ์มาทั้งโดยตรงและอ้อมจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม

ฟังเสียงจาก คุณลุงพีระศักดิ์ จิตต์วิมลกุล “เหยื่อ” 14 ตุลา

ผู้ต้องสูญเสียขาไปตลอดกาล โดยปืนกลจากรถถัง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี ก็พร้อมอโหสิกรรม “ทหารชั้นผู้น้อย” ที่ต้องทำตามคำสั่ง

ขณะที่ฟังเสียงจาก พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ซึ่ง ณ วันนั้นเคยเป็น ‘ทหารชั้นผู้น้อย’

แม้จะไม่ได้เป็นทหารที่ลงมือปฏิบัติปราบปรามประชาชนวันนั้น

แต่ พล.อ.บัญชร ก็ช่วยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในกองทัพตอนนั้น ว่าทำไมจึงยืนอยู่ตรงข้ามฝ่าย “ก้าวหน้า”

“เราถูกปลูกฝังให้เกลียดคอมมิวนิสต์”

คือคำตอบ

“ข้างหลังภาพ 14 ตุลา” โดย ศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

ขณะที่ในฝ่ายสื่อมวลชน

สมหมาย ปาริจฉัตต์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวฯ และอดีตบรรณาธิการมติชน

พร้อม สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่มีบทบาทในการจุดประกายความคิดคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น

มาช่วยฉายภาพสื่อสารมวลชนยุค 14 ตุลาคม 2516 เป็นอย่างไร

ขณะเดียวกันไปจับเข่าคุยกับ ศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เขียนหนังสือ “ข้างหลังภาพ 14 ตุลา”

ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้เก็บรวมรวมภาพและเรื่องราวในเหตุการณ์วันนั้น ให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับคนยุคหลัง

เช่นเดียวกับการสนทนากับผู้สะสมวรรณกรรม 14 ตุลา “นฤชิต สร้อยเพ็ชร” วิศวกรและผู้ช่วยอาจารย์ ประจำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

เพื่อส่งมอบต่อเรื่องราว อันเป็นประหนึ่งซอฟต์เพาเวอร์ ไว้ให้กับคน ‘รุ่นใหม่’

ซึ่งแน่นอนเมื่อกล่าวถึงซอฟต์เพาเวอร์ แล้วไม่ควรพลาดกวี “ฉันเขียนจดหมายถึงนายมาห้าสิบปีแล้ว” ของ “กิตติศักดิ์ คงคา”

และบทความพิเศษของ ปราโมทย์ ในจิต เรื่องเพลง “คนกับควาย” กับสังคมไทย อะไรคือ “ตำนาน”

เหล่านี้ คือเนื้อหาพิเศษ ที่ “มติชนสุดสัปดาห์” มอบให้ผู้อ่าน

อ่านแล้ว อยากชมคลิป ภาพและเสียง “ซีรีส์ 50 ปี 14 ตุลา” สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด ที่นำลงให้ ณ พื้นที่นี้แล้ว

 

QR Code “ซีรีส์ 50 ปี 14 ตุลา”

 

อนึ่ง เมื่อเพลง คนกับควาย กระหึ่มขึ้นในใจ

ภาพของคนจนที่ไร้โอกาส ก็ปรากฏ

เป็นความจนที่เมื่อ 50 ปีก่อนเป็นอย่างไร

วันนี้ภาพความจนก็เป็นอย่างเดิม

นั่นคือต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในทุกวิถีทาง

ภาพของแรงงานอีสานที่หนีตายมาจากอิสราเอล แบบหมดเนื้อหมดตัว

และไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต

คือสิ่งยืนยันนั้น

 

แม้ว่าในวันนี้ รัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทย จะมีเรือธงลำใหญ่

ด้วยการจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

แต่ก็นั่นแหละ นโยบายนี้ ถูกตั้งคำถามมากมาย ยอกย้อน และหลากหลายมุม

ซึ่งท้าทายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย อย่างยิ่งว่าจะตอบคำถามและทำได้สำเร็จหรือไม่

คำถามหนึ่งที่ “ตะวัน มานะกุล” ถามผ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ ที่หน้า 29

ช่างแหลมคมยิ่ง

นั่นก็คือ

“รับเงินหมื่นได้หรือไม่ หากคุณด่านโยบายเงินดิจิทัล?” •

 

รับชม เพลย์ลิสต์ “50 ปี 14 ตุลา” ได้ที่นี่