ขอแสดงความนับถือ

มองจาก 6 ตุลาคม 2566

ย้อนกลับไปยัง 6 ตุลาคม 2519

ผ่านซอฟต์เพาเวอร์ “กวี และเรื่องสั้น”

ที่นำเสนอในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

 

“ต้นมะขามสนามหลวง : วงปีและสีของเนื้อไม้” ของ “สุธีร์ พุ่มกุมาร”

คือกวีนิพนธ์ บทนั้น

“…เพื่อนเอย ต้นมะขามสนามหลวง

ในวัยล่วงเข้าชราอาจพร่าหลง

ห้าสิบปี- ต้น กิ่ง ก้าน ยืนมั่นคง

และเพิ่มวงปีเขียนภาพเปลี่ยนแปลง

คิดถึงเพื่อนมากนะต้นมะขาม

กลางดึกยามเดือนดับฟ้าอับแสง

หลายคนกับชะตากรรมหลังกำแพง

กับรอยแหว่งยังเหลือติดเนื้อไม้”

 

ส่วนเรื่องสั้นเป็นของ “กิตติศักดิ์ คงคา”

“ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”

“…อีกอย่างที่มาพร้อมทางรถไฟคือคนแปลกหน้า

หนึ่งในนั้นคือนายสุ่ย

…ตอนแรกก็ไม่มีใครสนใจนายสุ่ยนัก เพราะเห็นว่าต่อจะให้บ้าๆ บอๆ อย่างไรก็คงไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอันตรายใคร

จนกระทั่งนายสุ่ยเริ่มลักเล็กขโมยน้อยนั่นแหละ พอไม่มีอะไรยาไส้ นายสุ่ยก็เริ่มหยิบฉวยของกินจากตลาด แอบดอดไปบ้าง หยิบแล้ววิ่งหนีซึ่งหน้าบ้าง จากเมินเฉยก็กลายเป็นเกลียดชัง คนในหมู่บ้านเริ่มก่นด่าว่า “หัวขโมย”

แต่นั่นดูจะไม่มากสมความเกรี้ยวกราด นายสุ่ยจึงได้ชื่อใหม่ว่า “ไอ้คอมมิวนิสต์”

นั่นดูเหมือนจะเป็นคำหยาบและร้ายแรงที่สุดเท่าที่ใครต่อใครจะนึกออกได้แล้ว

ความชั่วร้ายที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในกระดาษผืนผ้า

ยักษ์มารตัวสีแดงที่ทุบฟาดชาวนาจนเลือดซิบ

ยักษ์มารตัวสีแดงที่เผาวัดเผาจีวรจนวอดวาย

ยักษ์มารตัวสีแดงที่มาดหมายจะหักประเทศออกเป็นเศษชิ้น

นายสุ่ยโดนด่าแบบนั้นได้อยู่ไม่กี่วัน

ทหารกลุ่มใหญ่ก็โผล่มาที่หมู่บ้าน ควบคุมตัวนายสุ่ยขึ้นรถไฟไป

แล้วไม่เคยกลับมา

คนในหมู่บ้านแทบจะโห่ร้องดีใจที่เรื่องนี้จบได้เสียที

ไม่มีใครตั้งคำถามว่านายสุ่ยไปไหน หรือถูกจับโดยข้อหาใด หรือจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง

ไม่มีใครสนใจ…”

 

“ไอ้คอมมิวนิสต์ สุ่ย”

ที่แม้ตอนแรก ชาวบ้านจะไชโยโห่หิ้ว ที่ถูกทหาร “กำจัด” ไปแล้ว

แต่กระนั้น หากอ่านเรื่องสั้นของ “กิตติศักดิ์ คงคา” ต่อไป

ภาพกลับพลิกผันไป

พลิกผันไปจากภาพ “ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”

กลับไปสู่บทกวีของ “สุธีร์ พุ่มกุมาร” อีกครั้ง

“…คิดถึงเพื่อนมากนะต้นมะขาม”

ก่อน 6 ตุลาคม 2519 อันวังเวงนั้น

เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ก้าวมาถึงวาระครบรอบ 50 ปี ในปี 2566 นี้

คอลัมน์ “ยุทธบทความ” ของ “สุรชาติ บำรุงสุข” นำเสนอตอนแรกของ

“14 ตุลาฯ กับทหาร

รำลึก 50 ปีแห่งการลุกขึ้นสู้”

เป็นการสู้ที่อาจารย์สุรชาติบอกว่าไม่มีใครเลยจะคิดว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จะเกิดขึ้นได้จริง…

ใครเลยจะคิดต่อว่า 14 ตุลาฯ จะเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของสังคมไทย

แม้แต่ผู้นำนิสิต นักศึกษาที่เปิดการเคลื่อนไหว ก็ไม่ได้คาดคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับขนาดนี้มาก่อน

จนอาจต้องถือว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือ “Political Shock”

เป็นอาการ “ช็อกทางการเมือง” ในแบบที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ หรือผู้นำทหารเอง ก็ไม่คาดมาก่อนเช่นกัน

แต่กระนั้น น่าเสียดาย “Political Shock” ดังกล่าว

มิได้นำไปสู่ประชาธิปไตยอันแท้จริง

แต่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เปื้อนเลือด

และวันนี้ยังทิ้งร่องรอย “ขวานิยมสุดขั้ว” เอาไว้ในสังคมไทยอย่างสุด “พันลึก”

 

วันที่ 6 ตุลาคม เวียนมาอีกครั้ง ในปีนี้

อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี แห่งคอลัมน์ “ฝนไม่ถึงดิน” ชี้ชวนให้คิด

“แล้วเราจะจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร”

ซึ่งดูเหมือนอาจารย์ษัษฐรัมย์ จะชัดเจนระดับหนึ่ง

นั่นคือ

“…สิ่งที่ผมอยากย้ำเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีหน้าที่สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้

ไม่ว่าเราจะรู้จักเหตุการณ์การณ์นั้นอย่างคร่าวๆ

หรือลึกซึ้ง เจ็บปวดในหัวใจ หรือเพียงแค่รู้สึกกับมัน

หน้าที่สำคัญคือการตอกย้ำให้เราเห็นถึงว่า คนธรรมดาล้วนมีความปรารถนาที่อยากให้สังคมนี้ดีขึ้น

เท่าเทียมมากขึ้น

เป็นของทุกคนมากขึ้น

หรือยุติธรรมมากขึ้นไม่ว่าในความหมายใด”

6 ตุลาคม 2566 ปีนี้

แม้สังคมไทยยังห่างไกลจากจุดที่อยากจะจดจำนั้น

แต่อาจารย์ษัษฐรัมย์ ยืนยันที่จะขอมอบความอยากจะจดจำนั้น

แด่ทุกต้นกล้าความฝัน •