ขอแสดงความนับถือ

เริ่มต้นด้วยข่าวประชาสัมพันธ์

พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แสดงความยินดีกับ กฤษดา วิทยาขจรเดช ผู้บริหารค่าย Be On Cloud

เนื่องในโอกาสภาพยนตร์ “แมนสรวง” ทำสถิติภาพยนตร์ไทยที่มียอดซื้อบัตรชมล่วงหน้าสูงที่สุดในรอบ 20 ปี และทำรายได้วันแรก ไปกว่า 11 ล้านบาท

ถือเป็นความสำเร็จ ของ ภาพยนตร์ “แมนสรวง” ที่ทำรายได้สูง

ที่สำคัญภาพยนตร์นี้เป็นไวรัลในโลกโซเชียลอย่างคึกคัก

และความคึกคักนี้เอง เป็นแรงดาลใจให้ มติชนสุดสัปดาห์ ซุกซน

ทำให้ “แมนสรวง” กลายเป็น “แดนสรวง”

แดนสรวง ที่รัฐบาลเศรษฐา (1) กำลังจะย่างบาทเข้าไป

จะเจอสวรรค์

หรือเจออย่างอื่น น่าติดตาม

ด้วยเพราะกระแส “ลบ” ก่อตัวทะมึนรออยู่ข้างหน้า

 

สุทธิชัย หยุ่น

ในคอลัมน์ กาแฟดำ ของ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

นำคำ 2 คำ มาถกแถลง

คือ “Conservative” หรือ “อนุรักษนิยม”

“Neo Conservative” หรือ “อนุรักษนิยมใหม่”

โดย “Conservative” นั้น เราคุ้นเคยกันอยู่แล้วว่า จะเน้นการรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นเอาไว้

มีแนวโน้มต่อต้านความเปลี่ยนแปลง

ไม่พร้อมจะออกจาก “เขตคุ้นเคย” หรือ comfort zone

คนกลุ่มนี้จะพยายามปลอบใจตนเองด้วยการบอกว่าเมืองไทยดีอยู่แล้ว คนอื่นแย่กว่า

จะต้องดิ้นรนหาวิถีอื่นทำไม

เลยมองเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นภัยคุกคาม

 

ส่วนคำว่า “Neo Conservative” หรือ “อนุรักษนิยมใหม่”

สุทธิชัย หยุ่น บอกว่า คือการขยับความคิดจากที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

มาเป็นความตระหนักว่าหากไม่ปรับไม่เปลี่ยน บ้านเมืองจะจมอยู่กับความล้าหลัง

และหากความยากจนและความเหลื่อมล้ำเสื่อมทรุดต่อไป สังคมก็มิอาจจะอยู่สุขได้

คนที่เสียเปรียบและด้อยโอกาสซึ่งมองไม่เห็นทางออกสำหรับตน

อาจลุกขึ้นเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

สุ่มเสี่ยงกับการใช้ความรุนแรง

ถึงจุดนั้น ก็ไม่มีใครอยู่สบายได้

“อนุรักษนิยมใหม่” จึงหมายถึงการที่กลุ่มคนที่เคยเป็น “อนุรักษนิยม” สุดขั้ว

หันมายอมรับว่าสังคมจะต้องเปิดกว้างมากขึ้น

สุทธิชัย หยุ่น บอกว่า ที่ผ่านมา มีผู้พยายามบอกว่า “เพื่อไทย” กำลังข้ามขั้วจาก “ฝ่ายเสรีนิยม” ไปสู่ “อนุรักษนิยมใหม่”

แต่ดูเหมือน สุทธิชัย หยุ่น จะไม่เห็นพ้องนัก

แถมแย้งว่า

“…คนที่เรียกการข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ว่าย้ายตัวเองจาก ‘เสรีนิยม’ สู่ ‘อนุรักษนิยมใหม่’ ยังถือว่าให้ความเมตตาอย่างสูงด้วยซ้ำไป

เพราะวิพากษ์กันโดยเนื้อแท้แล้วอาจจะมีศัพท์แสงที่ใช้บรรยายปรากฏการณ์ ‘การเมืองข้ามสายพันธุ์’ (ของเพื่อไทยครั้งนี้) ดุดันกว่านั้นมากมายหลายเท่านัก!”

“การเมืองข้ามสายพันธุ์” ที่ไม่ใช่ “อนุรักษนิยมใหม่” นี่แหละ

ที่อาจทำให้รัฐบาลเพื่อไทยไม่เป็นสุขใน “แดนสรวง” นัก

 

ยิ่งหากไปอ่านบทความพิเศษของ ตะวัน มานะกุล ที่หน้า 30

จะมีคำอีก 2 คำ ที่ถูกนำมาเทียบเคียงกัน

นั่นคือ “โกหก” กับ “บูลชิท”

ซึ่งดูแล้วอาจจะคล้ายๆ กัน แต่ความจริง ต่างกัน

โดยศัพท์ไทยไม่ได้แยกไว้ แต่ฝรั่งเขาแบ่งระหว่างการ “โกหก” กับ “บูลชิท”

ตะวัน มานะกุล บอกว่า ไม่รู้จะแปลบูลชิทเป็นภาษาไทยยังไง ถ้าเอาตามตัวเลยก็แปลได้ว่า “ขี้วัว”

เจาะจงกว่านั้น “บูล” ที่ว่าสื่อเฉพาะถึงวัวหรือกระทิงหนุ่ม

เขาใช้คำนี้ก็เพราะส่วนใหญ่การบูลชิทมักเกิดขึ้นในวงสนทนาของผู้ชายที่ชอบพูดเลอะเทอะ บลั๊ฟฟ์ อวดโชว์ความรู้ ฐานะโน่นนี่กันไปมาโดยไม่มีสาระ พูดไปเรื่อย หลับหูหลับตาพูด

ซึ่งพฤติกรรมนี้แตกต่างจากการโกหก

เพราะเวลาใครสักคนจะโกหก เขาต้องรู้ว่าอะไรจริง เพียงแต่ต้องการจงใจปกปิดความจริงนั้น

ในขณะที่คนบูลชิทไม่มีเจตนาดังกล่าวเลย

เขาเพียงเอาเรื่องโน่นมาผสมนี่

เรื่องที่เล่าอาจจะจริงหรือไม่จริง จริงบ้างไม่จริงบ้าง

เขาไม่รู้หรือไม่สนด้วยซ้ำว่าอะไรคือความจริง

เน้นเพียงเล่าความอะไรก็ได้ที่น่าจะเข้าหู

เสริมด้วยบุคลิกฉะฉาน มั่นใจ ชวนฟัง ที่ทำให้คนส่วนใหญ่หรือใครบางคนเห็นแล้วชอบ

 

ตะวัน มานะกุล บอกว่า โลกตะวันตกเขาว่าอาการบูลชิท น่ากลัวกว่าการโกหก

เพราะการโกหกจับโป๊ะได้

แต่กับคนบูลชิท คุยกันรู้เรื่องยาก เพราะเขาจะพูดไปเรื่อย ไม่มีข้อเท็จจริง เนื้อหา สาระอะไรเป็นฐานไว้เถียงกันเพื่อต้อนให้จำนวนหรือหาทางออกร่วมกันได้

สรุปคือคนพวกนี้จับยากกว่า น่ารำคาญกว่า กำจัดยากกว่า

และเป็นภัยต่อสติปัญญาของสาธารณะกว่าคนโกหก

และที่สำคัญ ตะวัน มานะกุล ชี้ว่า คนบูลชิท ในการเมืองไทย

โดยเฉพาะในเกมตั้งรัฐบาล มีอย่างดื่นดกเสียด้วย

และตอนนี้พวกบูลชิทกำลังเข้าไปสู่ “แดนสรวง” เพื่อเสพสุข เสพอำนาจ

แต่ “แดนสรวง” นั้นจะยั่งยืนเพียงใด อีกไม่นานคงรู้ •