ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปัจจุบัน เป็นชุดที่ 5

ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 6 คน กำลังสรรหาอีก 1 คน เพื่อให้ครบ 7 คน

1. นายอิทธิพล บุญประคอง ประธาน กกต.

ประวัติการทำงานสำคัญที่ผ่านมา

เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำองค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี

ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทยในการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนการสมัครเข้ารับเลือกตั้งของไทยในตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

2. ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์

ประวัติการทำงานที่สำคัญ

ศาสตราจารย์ประจำสายวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยที่เสนอต่อสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

3. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

ประวัติการทำงานที่สำคัญ

อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1

ผู้พิพากษาศาลฎีกา

ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

4. นายปกรณ์ มหรรณพ

ประวัติการทำงานที่สำคัญ

อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4

รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4

รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9

รองประธานศาลอุทธรณ์

ผู้พิพากษาศาลฎีกา

5. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ

ประวัติการทำงานที่สำคัญ

เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

อธิบดีกรมชลประทาน

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

6. นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ

ประวัติการทำงานที่สำคัญ

ที่ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายนุรักษ์ มาประณีต)

ประธานกรรมการตรวจสอบและประธานคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย องค์การตลาด (กต.) กระทรวงมหาดไทย

กรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)

มีนายแสวง บุญมี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง

อนึ่ง ที่ กกต.ปัจจุบันเหลือ 6 คน เนื่องจากนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กกต.มีอายุครบ 70 ปี ไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต.

ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการสรรหาคนมาแทน

ยกข้อมูลพื้นฐาน ลุ่นๆ ดิบๆ มาให้อ่าน

อ่านด้วยเชื่อว่า คนไทยเกินกว่าครึ่ง จำชื่อ กกต.ที่เป็นกลไกสำคัญในการดูแลการเลือกตั้ง ไม่ได้

เลยนำมาทบทวนความจำให้

ซึ่งสะท้อนอะไร

สะท้อนว่า กกต.เป็นอิสระ ลอยตัวห่างและเหนือประชาชนเหลือเกิน

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า กกต.ทั้ง 6 คน ซึ่งมากด้วยคุณวุฒิ

แต่กลับ “สื่อสาร” กับประชาชนน้อยมาก

เราแทบมิอาจล่วงรู้ว่าการตัดสินใจ (ที่ผิดพลาดและต้องแก้ไขในหลายเรื่อง)

การสอบถาม บอกกล่าว ตรวจทาน หยั่งเชิง กับประชาชนแทบไม่เคยเกิดขึ้น

ทั้งที่ในหลายกรณี หากมีการสื่อสาร แลกเปลี่ยนกับประชาชน

อาจทำให้การตัดสินใจรอบคอบ และได้หยั่งเสียงประชาชน ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร

ซึ่งการตัดสินใจโดยฟังประชาชน หรือสังคมมากๆ

ก็เหมือนมีผนังทองแดง กำแพงเหล็กเป็นหลังพิงให้

ไม่ยืนโดดเดี่ยวใน “บ้านร้าง” อย่างที่เป็นอยู่

 

อย่างที่เราทราบ กกต.ต้องปฏิบัติงานภายใต้แรงกดดันอย่างหนักหน่วง

ลำพังการตัดสินใจเพียง 6 คน มิอาจต้านทานแรงกดดันได้แน่ๆ

กกต.ต้องเป็นแนวร่วมกับประชาชน

สามารถโยนประเด็นต่างๆ ให้เป็นเรื่องรับรู้ของสาธารณะ อย่างกว้างขวางที่สุด

มิใช่ซุกตัวอยู่ “ก้นหีบเลือกตั้ง” อย่างเงียบเชียบ

เพราะนอกจากจะไม่ได้แง่มุมอันเปิดกว้างแล้ว

ยังมีระยะห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้นทุกทีๆ

 

ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต. ได้นำบทเรียนในอดีต มาสอนใจ กกต.รุ่นน้อง ผ่านบทความพิเศษ

“กกต. (กูเกือบตาย)

มา 5 คุก 2 ตาย 2 เหลือ 1”

เป็นชะตากรรมที่ชวนสยดสยองอย่างยิ่ง

โคลงบทหนึ่งซึ่ง พล.อ.จารุภัทรบอกว่าบิดาย้ำนักย้ำหนาให้ท่องจำให้ได้ คือ

“ความรู้ คู่เปรียบด้วย กำลังกายแฮ

สุจริต คือเกราะบัง ศาสตร์พร้อง

ปัญญา ประดุจดัง อาวุธ

กุมสติ ต่างโล่ป้อง อาจแกล้ว กลางสนาม”

ถูกนำมาเป็นคาถาหรือยาวิเศษคุ้มครองให้ผ่านมรสุมการเมืองได้

ผ่านได้อย่างไร 6 กกต.ควรต้องรีบอ่าน

อ่านเพื่อใช้เป็นบทเรียน

ด้วยการยุบสภากำลังจะเกิดขึ้น

ภาระอันหนักอึ้งที่ต้องแบก มาถึงแล้ว!! •