ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 26 ส.ค.-1 ก.ย. 2565 ฉบับที่ 2193

 

ขอแสดงความนับถือ

 

“หลัง” 24 สิงหาคม 2565

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี จะเป็นเงื่อนไขนำพาประเทศไปสู่จุดใด

ไปสู่จุดสงบที่ลุงตู่ หรือวิกฤตที่ลุงตู่

ยังไม่ทราบได้

แต่หลายคนคงมีความรู้สึกเดียวกัน นั่นคือเป็นห่วง

ห่วงสถานการณ์ จะเป็น “ลบ” มากกว่า “บวก”

โดยเฉพาะกับการ “ผูกขาด” อำนาจไว้กับคนคนเดียวเป็นเวลานานๆ ที่แนวโน้มจะนำไปสู่วิกฤต

ตัวอย่างหนึ่งคือ วลาดิมีร์ ปูติน

 

กาแฟดำ–สุทธิชัย หยุ่น แนะนำหนังสือ First Person ให้เรารู้จักมาหลายตอน

รู้จักเพื่อที่จะรู้จักวลาดิมีร์ ปูติน ยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะปมในใจที่รับไม่ได้กับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

อันนำไปสู่ความหวังลึกๆ ที่อยากจะฟื้นความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตกลับมา

“…มักเป็นที่กล่าวกันเสมอว่าปูตินยังหวนหาความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโซเวียตในอดีต โดยเฉพาะในยุคของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช Peter the Great

และยังเชื่อว่าแม้สหภาพโซเวียตจะแตกฉานซ่านเซ็น วันนี้เหลือเพียงรัสเซียเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้วเขาถือเป็นภารกิจที่จะสร้างให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่แบบเดิมอีก

ไม่ว่ารูปแบบที่ว่านั้น รูปที่จะประกอบขึ้นมาใหม่นั้น จะใช้วิธีการใดที่จะทำให้เกิดขึ้นมาก็ตาม…”

นั่นคือสิ่งที่สุทธิชัย หยุ่น ตั้งข้อสังเกต

จนเมื่อปูตินสามารถครองอำนาจในรัสเซียได้เบ็ดเสร็จ มั่นคง และยาวนาน

เขาก็ลงมือทำ ด้วยการบุกยูเครน

แน่นอนถ้าไปถามปูติน ย่อมได้รับการปฏิเสธถึงปมในใจดังกล่าว

จะอธิบายแค่ว่า ที่สั่งให้ทหารรัสเซียบุกเข้ายูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก็เพียงเพื่อที่จะ “ปกป้อง” คนยูเครนที่มีเชื้อชาติรัสเซีย

และ “ปลดแอก” ดินแดนบางส่วนของยูเครนที่เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

แต่ระหว่างบรรทัด หรือระหว่างคำพูดของผู้นำคนนี้ เราสามารถจับปมดังกล่าวได้

อย่างครั้งหนึ่งปูตินคุยเรื่องการล่มสลายของสหภาพโซเวียตกับคิสซิงเจอร์ ในหนังสือ First Person ที่สุทธิชัย หยุ่น นำมาเล่าให้ฟัง ก็สะท้อน “นัย” นั้นชัดเจน

จึงไม่แปลกที่ปูติน ผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง “ยาวนาน” ตัดสินใจทำสงครามกับยูเครน จนสะเทือนไปทั้งโลก รวมถึงไทยด้วย

ผู้นำที่อยู่ในอำนาจนานๆ มีความเบ็ดเสร็จ มักจะมีแนวโน้มความระห่ำเช่นนี้

และที่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่ในรัสเซียจะศิโรราบ

แต่กระนั้น ถามว่าจะไร้ซึ่งคนต่อต้านหรือไม่

คำตอบคือไม่ ยังมีคนหาญกล้าสวนทางอยู่เสมอ

และในคอลัมน์การเมืองวัฒนธรรม ของเกษียร เตชะพีระ ในฉบับนี้

พาเราไปรู้จักบอริส คาการ์ลิตสกี (Boris Kagarlitsky) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของคนที่กล้าต่อต้านผู้นำรัสเซียปัจจุบัน

เขาอยู่ในวัย 64 ปี เป็นศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ ที่ทำงานวิจัย บริหาร และสอนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโก, วิทยาลัยสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มอสโก, สถาบันสังคมวิทยาแห่งบัณฑิตยสถานรัสเซีย และสถาบันโลกาภิวัตน์ศึกษาและขบวนการทางสังคม

เป็นปัญญาชนสาธารณะ ผู้มีหนังสือพิมพ์ออนไลน์และช่อง YouTube ของตัวเองไว้เผยแพร่ข้อวิเคราะห์วิจารณ์สังคมการเมือง

เขาเป็นผู้เห็นต่าง/ฝ่ายค้านทางการเมือง มาตลอดตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาใต้สหภาพโซเวียตจนถึงรัฐบาลปูตินทุกวันนี้

ส่งผลให้ถูกจับติดคุก 3 ครั้งในสมัยประธานาธิบดีเบรสเนฟปี 1982 ประธานาธิบดีเยลต์ซินปี 1993 และประธานาธิบดีปูตินปัจจุบัน

 

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

บอริส คาการ์ลิตสกี ได้ให้สัมภาษณ์วารสาร Jacobin

โดยชี้ให้เห็นที่มาที่ไปและแง่มุมพิสดารลุ่มลึกนึกไม่ถึงของสงครามรุกรานยูเครน

ซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองภายในรัสเซียและระบอบปูติน

ซึ่งอาจารย์เกษียรเห็นว่าเป็นทรรศนะมองทวนสวนกระแสหลักในรัสเซียที่น่าสนใจ จึงหยิบมานำเสนอ

อันเตือนใจว่า ผู้นำที่อยู่ในอำนาจนานๆ และดูเหมือนจะมากล้นด้วยอำนาจ จนสยบคนอื่นๆ ได้

แต่เอาเข้าจริง ก็มิอาจใช้อำนาจปิดปาก ควบคุม หรือปราบให้ราบคาบได้

การต่อต้านเกิดขึ้นเสมอ และเสียงต้านจะดังขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะหากผูกขาดอำนาจนานๆ

เป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ ไม่เว้นลุงๆ ในเมืองไทย ที่แม้มากด้วย “ตัวช่วย (ตะแบง)” ก็ตาม •