ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 31 ส.ค. – 6 ก.ย. 2561

ขอแสดงความนับถือ

สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าถึงเพลงลูกทุ่งมาหลายสัปดาห์
เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะเส้นทางของเพลงลูกทุ่ง
มิได้ราบรื่น
เผชิญกระแส “ชนชั้น” รุนแรง

จํานง รังสิกุล บุคคลในตำนานโทรทัศน์ไทยและอดีตผู้บุกเบิกสถานีโทรทัศน์แห่งแรก ช่อง 4 บางขุนพรหม ผู้ผูกคำ “ลูกทุ่ง” ขึ้นมา
นำรายการเพลงประเภทนี้ไปออกทีวีช่อง 4 ในเดือนพฤษภาคม 2507 ตามข้อเสนอะแนะท้วม ทรนง
ในชื่อรายการ “เพลงชาวบ้าน”
ให้อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นผู้จัดควบคุม คัดเพลงและนักร้องมาออกรายการ
พร ภิรมย์ ผ่องศรี วรนุช ทูล ทองใจ คือนักร้องชุดแรก
ผลปรากฏ สถานีถูกด่าว่าจากผู้ชมมากมาย
ตั้งข้อรังเกียจ กล่าวหาผู้จัด ไม่เข้าท่า
จนอาจินต์ ปัญจพรรค์ ต้องราข้อ ของดจัดกับจำนง รังสิกุล ด้วยตนเอง

ต่อมา ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ขอจัดรายการเพลงทางโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 อีก เมื่อธันวาคม 2507
โดยใช้รายการ “เพลงลูกทุ่ง”
จำนง รังสิกุล เองกลัวจะไปไม่รอดอีก
แต่ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ได้ยืนยันเจตนาเดิมว่าจะขอต่อสู้ให้ได้รับความนิยมให้ได้
และวงแรกที่ได้มาร่วมรายการนี้ คือวงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล
เช่นเดิม
พอออกนัดแรก ผู้ชมก็เล่นงานเสียย่ำแย่
ด่าทางจดหมาย และโทรทัศน์ หาว่าช่อง 4 เอาเพลงอะไรบ้าๆ บอๆ มาออก
ขุดโคตร บรรพบุรุษ ขึ้นมาประจาน
จนจำนง รังสิกุล ต้องเรียกหารือว่า จะถอยหรือจะสู้
ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ยืนยันเจตนาเดิม
ขอสู้ต่อไป
นำนักร้องเข้ามาเสริมอีกหลายคน
อาทิ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพชร พนมรุ้ง ชัยณรงค์ บุญนะโชติ พจน์ พนาวัลย์ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ขุนแผน ถนอม ยุพิน แพรทอง สังข์ทอง สีใส ชินกร ไกรลาศ พนม นพพร สมัย อ่อนวงศ์
อดทนจนเดือนที่ 6 เริ่มมีกระแสยอมรับ
มีการกล่าวขวัญถึงรายการนี้
ความนิยมแทรกซึมไปตามวงดนตรีต่างๆ
และเริ่มเรียกวงของตนเองว่าวงดนตรีลูกทุ่ง
และนักร้องนิยมเรียกตัวเองว่า นักร้องเพลงลูกทุ่ง ได้อย่างเต็มปาก

นํามาสู่คำว่า “เพลงลูกกรุง”
ที่แม้ตอนแรกแฝงนัยยะเหยียดเพลงลูกทุ่ง
แต่ที่สุด “ลูกทุ่ง-ลูกกรุง” ก็กลายเป็นของคู่กัน
ปัจจุบัน ลูกกรุง ดูเหมือนจะแผ่วลง
ส่วนลูกทุ่ง ที่ถูกดูแคลนยังคงยืนเด่นท้าทาย
นี่คือภาวะผันแปรที่น่าติดตาม

พูดถึงเรื่องเพลง
มีจดหมายจาก “สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ และชูเกียรติ วรรณศูทร”
มาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของเพลง “หัวใจเมือง” หรือ “เมืองกังวล”

“ผู้ประพันธ์ ‘หัวใจเมือง’ ลือเลื่องนี้
‘ถนอม อัครเศรณี’ มีอ้างเอ่ย
มิใช่ ‘รัชกาลที่หก’ ยกชมเชย
ขอเฉลย ‘ความจริงสิ่งไม่ตาย’
ครูสง่า อารัมภีร ดนตรีเพราะ
ใส่ทำนองเสนาะเหมาะความหมาย
เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เมืองกังวล’ มนต์พริ้งพราย
แพร่ขยาย ‘สอนคนไทยให้สำนึก’!”

ประเด็นนี้ วิสา คัญทัพ เคยเขียนลงในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2546
ยืนยันว่า “หัวใจเมือง” ผู้ประพันธ์คือถนอม อัครเศรณี
ในนามปากกาว่า “อัครรักษ์”
อ้างหลักฐานในราวปี 2519-2520
ถนอม อัครเศรณี ผู้ประพันธ์เองตกใจมาก
เมื่อได้ยินบทร้อยกรองของตัวเองออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ
แล้วมีการอ้างอิงว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงพระราชนิพนธ์
การณ์นี้ทำให้ถนอม อัครเศรณี เขียนจดหมายถึงเพื่อนคือ “อิงอร” ซึ่งเป็นเจ้าของคอลัมน์ “พระอาทิตย์ชิงดวง” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
และ “อิงอร” ได้นำจดหมายฉบับนั้นมาตีพิมพ์ในคอลัมน์ดังกล่าว
“บทกลอนของผมนั้นเปรียบได้เพียงเศษธุลี
เป็นละอองธุลีพระบาทของบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่าน
เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้ประชาชนเกิดความสำคัญผิดพลาดเช่นนี้
ขืนเพิกเฉยต่อไปมิเท่ากับว่าผมปล่อยให้ราคีเกิดแปดเปื้อนแก่บทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านด้วยความมิบังควรเช่นนั้นละหรือ?
ช่วยชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจความเป็นจริงโดยถูกต้องด้วยเถิด”

หวังว่าความเข้าใจผิดเรื่องเพลง “เมืองกังวล” คงหายไป
ส่วนใครจะกังวล
“เมืองใด มากมี ทหารหาญ
แห่เล่น การเมือง นานนาน…”
จงกังวลต่อไป ไม่ว่ากัน (ฮา)