ธุรกิจสุราสี-สุราขาว ในกระแสเปลี่ยนแปลง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

การเปลี่ยนแปลงเชิงพัฒนาการ จักเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เป็นไปได้เสมอ

ว่ากันด้วยเรื่องสลักสำคัญบางเรื่อง คงอยู่มานาน อาจไม่มีใครคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะเกิดขึ้นโดยง่ายและโดยเร็ว แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชื่อว่าจะมาถึงในไม่ช้า อาจไม่ง่าย แต่ให้ภาพสะท้อน ภาพ “ตัวแทน” กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทยในภาพใหญ่ ด้วยพลังขยับเขยื้อนครั้งสำคัญอีกครั้ง

อันที่จริง ภาพนั้นมีที่มา มีความต่อเนื่องของพลังงานการเปลี่ยนแปลงมาพักใหญ่ๆ จับภาพและมองผ่านความเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนกฎ กติกา ผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ก้าวไปข้างหน้า อ้างอิงกรณีความพยายามก้าวพ้น ยุค “ครอบงำ” แห่งตำนานธุรกิจสุรา

ตำนานอุตสาหกรรมเก่าแก่และทรงอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย มีเรื่องเล่าในเรื่องราวมาเกือบๆ ศตวรรษ

“อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีพัฒนาการมาจากการผลิตสุราพื้นบ้าน หรือสุราแช่ (สุราที่เกิดจากการหมักข้าวหรือน้ำตาล) ในยุคแรก (ปี 2470) รัฐเป็นผู้ผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุรา ทำการผลิตสุราขาวที่โรงงานสุราบางยี่ขัน (ขึ้นอยู่กับกรมสรรพสามิต) และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสุราขาว มาผลิตสุราประเภทอื่นเพิ่มเติม…” ข้อมูลเมื่อปีที่แล้วซึ่งอ้างอิงได้ เชื่อว่าคงให้ภาพเป็นปัจจุบัน (บางตอนของงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง “แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2565-2567 : อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม” 1 กุมภาพันธ์ 2565) ให้ภาพที่มาที่มีความสัมพันธ์

ตำนานต่อเนื่องข้างต้นอย่างกว้างๆ มีอีกบางตอน (อ้างแล้วข้างต้น) “…ต่อมารัฐมีนโยบายให้เอกชนเข้ามาดำเนินการผลิตได้นับจากปี 2502 โดยให้เอกชนประมูลสิทธิดำเนินกิจการโรงงานสุราบางยี่ขันในช่วงปี 2503-2542” ในขณะนั้นมีเรื่องราวเฉพาะเจาะจงอยู่ด้วย อย่างผมเองเคยเสนอไว้เมื่อไม่นานมานี้

“เปิดฉากขึ้นเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษ กับสินค้าที่มีฐานผู้บริโภคกว้างใหญ่ จากยุคสัมปทานตำนานสุราสี ‘แม่โขง’ (2503) และ ‘หงส์ทอง’ (2524) จนมาถึงยุคสุราขาว กรมสรรพสามิต เปิดประมูลให้เอกชนรายเดียวได้สัมปทานผลิตและจำหน่ายในขอบเขตทั่วประเทศ (2522) ปรากฏการณ์อย่างหลังมาถึง พร้อมๆ กับกระบวนการทำลายการผลิตสุราชุมชนและท้องถิ่น ถูกเรียกว่า ‘เหล้าเถื่อน’ เป็นไปอย่างแข็งขันอย่างเหลือเชื่อ แทบจะราบคาบ” (เรื่อง “สุรา-เบียร์ก้าวหน้า” มติชนยสุดสัปดาห์ มิถุนายน 2565)

 

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากๆ ในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ว่า เกิดขึ้นในราวปี 2530 เมื่อธุรกิจสุราสี-สุราขาว เกิดกระบวนการหลอมรวมมาอยู่ในมือเดียว เกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัวหนึ่ง เชื่อมโยงกับตระกูลธุรกิจผู้ร่ำรวยอันดับต้นๆ ของไทย

กับตำนานและความเป็นมาของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ

ที่มีเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ก่อตั้งและคงเป็นผู้นำในปัจจุบัน ที่สำคัญเขาคงอยู่ในทำเนียบ Billionaires 2023 เช่นในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้ร่ำรวยติดอันดับโลก (ในปีนี้อยู่ในอันดับ 118) และเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของสังคมไทย ด้วยมีมูลค่าความมั่งคั่งถึงระดับ 5 แสนล้านบาท

แม้ว่าภาพเคลื่อนไหวต่อจากนั้น ดูมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่มากับ “นโยบายเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราในปี 2543” ทว่า ภายใต้กลไกบางอย่าง มิได้สั่นคลอนภาวะผูกขาดของอุตสาหกรรมแต่ดั้งเดิมแต่อย่างใด

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผู้ผลิตไม่มากนัก เนื่องจากลักษณะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย อีกทั้งกฎระเบียบของทางการไทยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตผลิตและขายส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย และมาตรฐานโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543″ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตสุราและเบียร์” บทวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ว่าไว้อย่างนั้น

เป็นไปอย่างสอดคล้องภาพระดับธุรกิจอย่างที่เคยเสนอไว้ด้วยเช่นกัน

ปี 2542 กล่าวกันว่า มีการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุรา แต่ในทางความเป็นจริง กลายเป็นมหากาพย์การหลอมรวมอยู่ในมือเดียวครั้งใหญ่

“สัมปทานโรงงานสุราสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2542 และรัฐมีนโยบายเปิดเสรีการค้าสุรา บริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลซื้อโรงงานสุราบางยี่ขัน จังหวัดปทุมธานี และบริษัทในเครืออีก 11 บริษัท ชนะการประมูลซื้อโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต 11 โรงงาน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทในเครือจึงมีโรงงานสุราที่ซื้อจากรัฐบาลทั้งหมด 12 โรงงาน และเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา”

ข้อมูลของไทยเบฟฯ เองได้ว่าไว้ ทั้งนี้ ในระยะต่อมาได้กระชับแผนการมากขึ้นอีก ด้วยได้ดำเนินแผนการเข้าซื้อกิจการโรงงานสุรารายอื่นๆ

อาทิ “เข้าซื้อโรงงานสุราจากบริษัท สินสุรางค์การสุรา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสุราตราเสือขาว” (ปี 2549) และ “เข้าซื้อบริษัท ประมวลผล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสุราตราหมีขาว” (ปี 2550)

 

จึงมาถึงบทสรุปที่ว่า เครือข่ายธุรกิจดั้งเดิม ได้เข้ามาอยู่ภายใต้เครือข่ายไทยเบฟฯ ผู้นำและผู้ครอบครองธุรกิจไว้อย่างมั่นคง ดังภาพเชิงรายละเอียดของบทวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาอย่างที่อ้างไว้

“อุตสาหกรรมสุรา ตลาดถูกผูกขาดโดยกฎระเบียบของทางการทำให้การเข้ามาแข่งขันของผู้ผลิตรายใหม่ค่อนข้างยาก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จึงครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดถึงกว่า 80% มีความพร้อมด้านเงินทุน ศักยภาพในการผลิต และมีอำนาจทางการตลาดสูงจากการขยายไลน์การผลิตเครื่องดื่มครบวงจร มีโรงงานสุราในเครือ 18 โรง และมีบริษัทในเครือนำเข้าสุราเข้ามาจำหน่าย ปัจจุบัน บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ มีผลิตภัณฑ์สุราสนองความต้องการผู้บริโภคทุกระดับกว่า 30 แบรนด์…”

อีกมิติหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราในปี 2543 เปิดทางให้ธุรกิจเบียร์ในไทยปรับเปลี่ยนจากภาวะผูกขาด สู่การแข่งขันน้อยราย เพียงเพื่อมีรายใหญ่บางรายเข้ามา ซึ่งเป็นรายใหญ่ในธุรกิจสุราอย่างที่ว่าไว้ข้างต้น โดยทิ้งบรรดารายย่อย รายเล็กไว้ข้างหลัง

ดังภาพที่ปรากฏ “อุตสาหกรรมเบียร์ ตลาดในประเทศถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่ 2 ราย คือ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ …และ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ … ซึ่งมีศักยภาพในการดำเนินกิจการสูง มีความได้เปรียบด้านเงินทุน และมีการกระจายสินค้าผ่านช่องทางจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันทั้งสองรายมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 93% ของปริมาณจำหน่ายเบียร์ในประเทศ” (บทวิเคราะห์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา)

ว่าเฉพาะความเคลื่อนไหวไทยเบฟฯ ตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์หรือ SGX (ปี 2549) กับแผนการใหญ่เข้าซื้อธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ – Fraser and Neave ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแห่งสิงคโปร์ (ปี 2555)

สะท้อนถึงแผนการปรับตัวสู่การแข่งขันในพื้นที่กว้างขึ้นกว่าประเทศไทย ในภาวะการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรีมากขึ้น

บทเรียนและประสบกาณ์ในช่วงทศวรรษมานี้ เหมือนเป็นสัญญาณการปรับตัวอย่างน่าสนใจ ตามพัฒนาการควรเป็นเชื่อว่าไม่นานจะเกิดขึ้น ทว่า มีบางจังหวะสะดุดไป จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อยู่ในช่วงรัฐบาล (ที่มีผู้นำ) ทหาร (2557-2566) ปรากฏ “แรงเฉื่อย” เกิดขึ้นบางระดับ

จากนี้ไป เชื่อว่าคงกระชับและยกระดับแผนการปรับตัวอย่างจริงจัง •

 

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com