อสังหาฯ กลาง-เล็ก ศึกหนัก

ติดตามข่าวการแถลงแผนธุรกิจและการเปิดตัวโครงการใหม่ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ แล้ว ต้องยอมรับว่าอสังหาฯ รายใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานตั้งแต่ยุควิกฤตปี 2540 ทำให้มีการพัฒนาและปรับตัวเร็วมาก

วิกฤตโควิดปี 2563-2564 นับเป็นครั้งที่หนักหนาสาหัสมากอีกครั้งหนึ่ง อสังหาฯ ก็ผ่านมาได้ ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกที่พ้นจากการแพร่ระบาดโควิด ธุรกิจอสังหาฯ บ้าน คอนโดฯ ก็สามารถสร้างยอดขายได้สูงกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มียอดสูงสุดรอบก่อนหน้านี้ได้

หลายบริษัททำลายสถิติตัวเองด้านยอดขาย ยอดรายได้ ทำให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น

 

ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บมจ.เอพี.ไทยแลนด์แถลงข่าว ปี 2566 จะเปิดตัวโครงการใหม่ 58 โครงการ มูลค่า 77,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่แล้ว เอพี.ไทยแลนด์จะมีโครงการพร้อมขายทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กว่า 192 โครงการ มูลค่า 165,600 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 58,000 ล้านบาท

นี่เป็นเพียงรายเดียวในบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำท็อปเท็น เท่านั้น ยังไม่ได้นับรวมทั้ง 10 รายที่ยอดเป้าหมายลดหลั่นกันลงมา ยอดรวมทั้ง 10 รายจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขเป้าหมายเหล่านี้บริษัทอสังหาฯ ชั้นนำคงไม่ได้ตั้งง่ายๆ ตามที่คิดอยากได้ แต่มีการประเมิน วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ความพร้อมทรัพยากรด้านต่างๆ อาทิ เงินทุน ที่ดิน ทีมงาน กันมาแล้ว

ขณะเดียวกันขนาดตลาดอสังหาฯ บ้าน คอนโดฯ โครงการใหม่ปีหนึ่งๆ เฉลี่ยประมาณ 5-6 แสนล้านบาท คิดเอาง่ายๆ คร่าวๆ กลุ่มอสังหาฯ ท็อปเท็นเป้ายอดขายรวมกันก็น่าจะ 70-80% ของตลาดไปแล้ว นี่ยังไม่ได้นับรวมทั้งหมดร่วม 30 บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สถานการณ์เช่นนี้การแข่งขันในกลุ่มอสังหาฯ ผู้นำตลาดก็คงจะดุดันไม่น้อย

 

ขณะเดียวกันกลุ่มรายใหญ่ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องไปชิงส่วนแบ่งตลาดจากอสังหาฯขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งขยายโครงการไปต่างจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นการแข่งขันที่อสังหาฯ รายใหญ่มีข้อได้เปรียบต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า มีพร้อมมากกว่า มีทีมงานมืออาชีพ มีแบรนด์ความน่าเชื่อถือดี

ขณะที่อสังหาฯ ขนาดกลางและเล็กมีต้นทุนดำเนินการต่ำกว่า มีความคล่องตัวกว่า และชำนาญพื้นที่มากกว่า

เชื่อว่าการแข่งขันทั้งระหว่างอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ด้วยกันเอง ระหว่างกลุ่มรายใหญ่กับรายกลางและเล็ก ขณะที่ตลาดภาพรวมยังเติบโตช้า จะทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ที่ตอบสนองกลุ่มผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเซ็กเมนต์ย่อยที่ละเอียดขึ้น แตกต่างกันมากขึ้น

แม้จะเป็นการแข่งขันที่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ไม่น้อย แต่ยังถือว่าได้ว่ามีเสรีในแข่งขันพอสมควรไม่ว่าจะเป็นที่ดิน วัสดุก่อสร้าง ทางเลือกและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดังนั้น ย่อมเกิดการพัฒนา

ผิดกับบางธุรกิจที่ผูกขาดโดยมีกฎหมายคุ้มครอง พัฒนาการเกิดขึ้นได้ยาก มีแต่ผู้บริโภค ผู้เสียภาษีเป็นผู้เสียเปรียบฝ่ายเดียว •