ซีพีเอฟ ชูโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุนคอนแทรคฟาร์ม หนุนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

ทั่วโลกตระหนักดีถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรม ในการเป็นฐานรากของ “ความมั่นคงทางอาหาร” สำหรับประชากรโลกที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 9 พันล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัด ท่ามกลางความท้าทายต่างๆทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และโรคระบาดต่างๆ ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง จึงเป็นหนึ่งในระบบการผลิตสินค้าทางการเกษตร ที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีความรู้ในการผลิตสินค้าทางการเกษตรได้คุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขณะที่เกษตรกรมีหลักประกันเรื่องรายได้ที่มั่นคง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย ตั้งแต่ปี 2518 ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร ทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ โดยประยุกต์ใช้ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง เป็นข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา คือ บริษัทผู้ประกอบการกับเกษตรกร ให้ผลิตสินค้ามาตรฐานเดียวกับบริษัท โดยบริษัทฯ เป็นผู้ถ่ายทอดให้เกษตรกรมีความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าได้ประสิทธิภาพมีผลผลิตแน่นอน ลดความเสี่ยงจากโรคระบาด และมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน เกษตรกรไม่เสี่ยงด้านการตลาดและราคา สามารถผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ร่วมสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนทั้งประเทศ ให้คนไทยได้มีเนื้อสัตว์และไข่ไก่ปลอดภัย บริโภคอย่างเพียงพอ

ในปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ได้ดำเนินการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment – SROI) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุนแบบประกันรายได้ โดยประเมินผลโครงการฯ ในมิติของต้นทุน ผลประโยชน์และความเสี่ยง พบว่า เกษตรกรเลี้ยงสุกรขุนในโครงการฯ รวม 3,093 ราย ได้รับผลตอบแทนทางสังคมคิดเป็นมูลค่าผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม รวม 4,574 ล้านบาท โดยเฉพาะการสร้างผลกระทบเชิงบวกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)

ความมั่นคงในอาชีพและรายได้ เกษตรกรร่วมโครงการฯ มีรายได้ที่มั่นคง โดยได้รับรายได้จากกการเลี้ยงสุกรรวม 2,751 ล้านบาท ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในการต่อยอดหรือขยายโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ เกษตรกรมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากการเข้าถึงเงินกู้จากธนาคาร และช่วยให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการใช้พลังงานทดแทนภายในฟาร์ม ที่มาจากการจัดการของเสียของฟาร์มสุกรเอง

ขณะที่ผลตอบแทนด้านสังคมและการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เกษตรกรเลี้ยงสุกรขุนในโครงการฯ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยขยายโอกาสการยกระดับคุณภาพชีวิต เกษตรกรมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น ช่วยขยายโอกาสทางการศึกษาของบุตรหลาน การลดภาวะการเจ็บป่วยจากการลดใช้สารเคมีทางเกษตร การสนับสนุนมีความสัมพันธ์ที่ดีและการยอมรับจากชุมชน

ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม การที่ฟาร์มสุกรของเกษตรกรเลี้ยงสุกรขุน ของซีพีเอฟทุกแห่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผ่านการทำประชาคมจากชุมชน มีการติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพ (Biogas) เพื่อบำบัดมูลสุกรและน้ำใช้ภายในฟาร์ม จึงช่วยลดปัญหากลิ่นและลดก๊าซมีเทนที่ออกสู่ชั้นบรรยากาศรวมถึงมีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ไปมอบให้ชาวสวนชาวไร่ใช้รดพืชผล เป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับพืชไร่ต่างๆ ทำให้ฟาร์มอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข

การส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรขุนแก่เกษตรกรรายย่อยด้วยระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งนี้ นอกจากจะช่วยสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอและยั่งยืนแก่เกษตรกรในโครงการฯ แล้ว ยังสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารได้และส่งมอบเนื้อสุกรปลอดภัยได้อย่างต่อเนื่องให้กับคนไทยด้วยฟาร์มสุกรที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทางของอาหารมั่นคงที่ยั่งยืนอีกทางหนึ่ง