เกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม “ซีพีเอฟ” ยกระดับการเลี้ยงสัตว์สู่เกษตรอัจฉริยะ สร้างความมั่นใจเนื้อสัตว์ปลอดภัย

“เกษตรอัจฉริยะ” หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) เป็นแนวทางการทำเกษตรยุคใหม่ ที่นำเทคโนโลยีทันสมัย นวัตกรรมการเกษตร และควบคุมระบบการทำงานผ่านออนไลน์มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น ทำงานด้วยความแม่นยำมากขึ้น ในอีกมุมหนึ่ง เป็นต้นทางผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ปลอดโรค สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค   

เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จ.ลพบุรี ในโครงการคอนแทรคฟาร์ม ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ   ประดุง โพธานะ เล่าว่า ก่อนจะมายึดอาชีพเกษตรกรอย่างทุกวันนี้ เคยเป็นหัวหน้างาน ในฝ่ายผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทแห่งหนึ่งมาก่อน แม้มีเงินเดือนหลักแสน แต่ก็คิดหาอาชีพเสริม โดยขอร่วมลงทุนเลี้ยงหมูอิสระกับพี่สาวซึ่งให้ผลกำไรที่ดี  จากนั้นจึงชวนเพื่อนมาร่วมลงทุนเลี้ยงหมูเพิ่ม เวลานั้นเริ่มมีเทคโนโลยีไบโอแก๊สเข้ามา แต่การลงทุนค่อนข้างสูง  จึงนำความรู้ด้านงานช่างมาประดิษฐ์เครื่องปั่นไฟไบโอแก๊สราคาประหยัดใช้เองและต่อยอดทำเพื่อจำหน่าย กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้อย่างงาม เมื่อมีทุนมากขึ้นจึงเลือกลงทุนเลี้ยงหมูในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน หรือคอนแทรคฟาร์ม กับซีพีเอฟ เพราะมีระบบทุกอย่างรองรับเพื่อให้เกษตรกรเลี้ยงหมูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2558 ได้สร้าง “ทีบีจีฟาร์ม” เลี้ยงหมู 12 หลัง ที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าหลวง เป็นฟาร์มระบบอัตโนมัติควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ มีกล้องวงจรปิดทุกโรงเรือน ใช้ไบโอแก๊สเต็มรูปแบบ และได้ลงทุนเพิ่มอีก 16 หลัง ที่ ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม ความจุหมูรวมทั้งสองฟาร์ม 21,000 ตัว      

ประดุงบอกว่า ที่เลือกใช้เทคโนโลยีทั้งหมดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาระงาน เช่น การใช้กล้องวงจรปิดทำให้ไม่จำเป็นต้องเข้าฟาร์ม แต่ยังเห็นความเป็นอยู่ของหมู เห็นการทำงานของทีมงาน สั่งงานและโต้ตอบผ่านกล้อง เห็นอุปกรณ์ชำรุดก็ซ่อมแซมทันที เพื่อลดการเข้าโรงเรือน ควบคู่กับการทำซีลคนงานให้อยู่เฉพาะในฟาร์ม ก็ช่วยลดการนำเชื้อโรคไปสู่ฝูงสัตว์ ตอนนี้ได้ต่อยอด Smart Farm ด้วยการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมระบบให้ทำงานได้สมบูรณ์แบบที่สุด  

ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ นารีรัตน์ สุดสงค์ เจ้าของนารีรัตน์ฟาร์ม ต.นายายอาม อ.นายายอาม จ.จันทบุรี ที่เลี้ยงไก่ไข่กับซีพีเอฟมาตั้งแต่ปี 2542 และเป็นฟาร์มนำร่องการใช้ระบบอัตโนมัติมาประมาณปี 10 ปี ปัจจุบันใช้ระบบให้น้ำ-อาหาร และการควบคุมไฟอัตโนมัติทั้งหมด มีชุดเก็บและลำเลียงไข่ไก่อัตโนมัติ พร้อมชุดรางเก็บกวาดมูลไก่ การลงทุนกับเครื่องจักรเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร โดยการเลี้ยงไก่ 32,000 ตัว มีคนทำงาน 4 คน แม้การลงทุนจะค่อนข้างสูง แต่ถือว่าคุ้มค่ามาก ทุกอย่างทำงานตามตารางเวลาจึงเป็นระบบและมีระเบียบ งานเสถียร ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่สำคัญคือการดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาระหว่างการผลิตก็จะรู้และแก้ไขได้ทันที ทำให้สามารถบริหารจัดการงานได้ดี ขณะที่ทีมงานก็อาศัยอยู่ในฟาร์มทำให้สามารถป้องกันโรคแก่ฝูงสัตว์ได้อย่างดี   ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย  

ด้าน สมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นยกระดับระบบการบริหารฟาร์มเลี้ยงสัตว์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม ให้นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ เพื่อก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ  ช่วยให้ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว  มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย สามารถบริหารจัดการฟาร์มได้ทุกที่ทุกเวลา โดยสนับสนุนเกษตรกรติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อช่วยป้องกันโรคและสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในฟาร์มเบื้องต้นได้ ปัจจุบันได้ติดตั้ง CCTV ในฟาร์มเกษตรกรแล้ว 90%  คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ 

ส่วนระบบให้อาหารอัตโนมัติ ติดตั้งในฟาร์มหมูขุนของเกษตรกรทั่วประเทศแล้ว 100% ซึ่งช่วยลดแรงงาน คนไม่ต้องเข้าโรงเรือนไปให้อาหาร เพื่อให้สัมผัสตัวสัตว์น้อยที่สุด ลดความเสี่ยงการนำโรคต่างๆสู่ฝูงสัตว์ ตามมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) และเริ่มใช้ระบบ Sound talk ซึ่งเป็นอุปกรณ์ IOT ที่ติดตั้งในโรงเรือนเลี้ยงหมูขุน เพื่อตรวจวัดเสียงไอ ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยติดตามสุขภาพสัตว์ เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์คุณภาพ ปลอดภัย ปลอดโรค

นอกจากนี้ เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มทั้ง 100% ใช้แชทบอท (Chatbots) ผ่านแอปพลิเคชัน LINE Official เพื่อพูดคุยและปรึกษากับทีมงานของบริษัทและติดตามการผลิตได้ตลอดเวลา ขณะนี้ได้พัฒนาแพลตฟอร์มของซีพีเอฟ เรียกว่า “สมาร์ท พิก” (Smart Pig) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่ และสนับสนุนเกษตรกรในด้านการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิต วางแผนการผลิต  และการจัดการให้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรแต่ละราย

เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มของซีพีเอฟ  ก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะ  ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเลี้ยงสัตว์และการผลิต  นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคด้วย