เกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม ซีพีเอฟ สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัย เสริมความมั่นคงอาหาร ในวิกฤตโควิด

วิกฤตโควิด -19 เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะความใส่ใจในความปลอดภัยของอาหารตลอดกระบวนการผลิต เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มของซีพีเอฟ  นอกจากเป็นอาชีพที่ไม่มีความเสี่ยงและมีความมั่นคงแล้ว ยังสร้าง “หลักประกันความปลอดภัยในอาหาร” ที่จะส่งถึงมือผู้บริโภคอีกด้วย  

เกษตรกรที่ร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ หรือคอนแทรคฟาร์ม กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงแม้อาชีพที่ทำจะมั่นคง ยั่งยืน เป็นอาชีพที่สามารถส่งต่อสู่ลูกหลานได้ อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เช่นนี้ “ความปลอดภัยและความมั่นคงอาหาร” เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เกษตรกรทุกคนต้องปรับตัวด้วยการยกระดับมาตรการความปลอดภัยให้สูงขึ้นกว่าเดิม 

เวทย์  ผิวพิมพ์ หรือ ลุงเวทย์ เจ้าของรัตนะฟาร์ม ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ฟาร์มแห่งแรก ในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุุกรขุนกับซีพีเอฟ อ.อู่ทอง มาตั้งแต่ปี 2550 ปัจจุบันมีโรงเรือนเลี้ยงสุกรขุน 9 หลัง ความจุรวม 6,000 ตัว ทั้งหมดควบคุมผ่านกล้องวงจรปิด ทำให้สามารถดูแลสุกรได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปในโรงเรือน ลดความเสี่ยงที่คนจะนำโรคเข้าฝูงสุกรได้เป็นอย่างดี เพื่อเสริมความปลอดภัยในอาหารอีกขั้นหนึ่ง และมีทีมงานมืออาชีพมาให้คำแนะนำดูแลใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตดีที่สุด  โดยเฉพาะในวิกฤตโควิดที่ซีพีเอฟให้ความรู้ด้านการป้องกันโรคสำหรับบุคลากรภายในฟาร์ม และการป้องกันโรคสุกรต่างๆ ด้วยระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Biosecurity) เต็มรูปแบบ เพื่อให้คนปลอดภัยจากโควิดและสัตว์ปลอดโรค

เช่นเดียวกับ พิทักษ์พงศ์ เนื่องแก้ว เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 24 ปี เจ้าของฟาร์มสุกรขุน หจก.พิทักษ์พงศ์ วิชุดา รุ่งเรืองฟาร์ม ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ที่ต่อยอดความสำเร็จจากรุ่นพ่อ-แม่ที่ร่วมเป็นคอนแทรคฟาร์มเลี้ยงสุกรพันธุ์กับซีพีเอฟมาตั้งแต่ปี 2544 ด้วยการลงทุนสร้างฟาร์มสุกรขุนจำนวน 2 หลัง ความจุ 1,600 ตัว เป็นของตัวเองเมื่อปี 2563 ในรูปแบบสมาร์ทฟาร์มควบคุมการเลี้ยงด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อมอนิเตอร์สุขภาพสัตว์และตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการเลี้ยง เขาบอกว่า แม้ในวิกฤตโควิดอาชีพก็ไม่มีสะดุด เพราะบริษัทให้ความรู้ทั้งเรื่องการป้องกันโรคคนและโรคสัตว์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ทำซีล (Seal) แก่พนักงานฟาร์ม ด้วยการจัดที่พักไว้ภายในฟาร์ม เพื่อช่วยป้องกันพวกเขาจากความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคจากภายนอก เพื่อให้สามารถผลิตสุกรที่มีคุณภาพ ปลอดโรค ส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ซึ่งเกษตรกรทุกคน ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัย และเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตอาหารให้ทุกคนได้บริโภคอย่างเพียงพอในทุกๆสถานการณ์

ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ วิง บุญเกิด เจ้าของบุญเกิดฟาร์ม ต.ยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร อีกหนึ่งเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากว่า 23 ปี กับอาชีพเลี้ยงไก่ไข่กับซีพีเอฟ ถือเป็นเกษตรกรรุ่นบุกเบิก ในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่แบบประกันราคา มาตั้งแต่ปี 2541 โดยบอกว่า อาชีพนี้ไม่มีความเสี่ยง เพราะมีบริษัทจัดหาพันธุ์ไก่ อาหาร วัคซีนให้ในราคาประกัน พร้อมส่งสัตวบาลมาดูแลการเลี้ยงไก่ 50,000 กว่าตัว ใน 10 โรงเรือน และแนะนำการป้องกันทั้งโรคคน และโรคสัตว์อยู่ตลอด  โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ต้องยกระดับการป้องกันเรื่องความปลอดภัยในระดับสูงสุด พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

ขณะที่ นาลอน หารวย เจ้าของนาลอนฟาร์ม ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ที่ตัดสินใจร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่กับซีพีเอฟ มาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ 1 หลัง ความจุ 5,000 กว่าตัว ใช้แรงงานของคนในครอบครัวช่วยกัน ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา มีซีพีเอฟคอยสนับสนุนในทุกๆด้าน เพื่อให้มีอาชีพให้มั่นคง และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทมาดูแลและติดตามการเลี้ยง พร้อมยกระดับการป้องกันโรคให้เข้มข้นขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตที่ดี เน้นเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์คุณภาพส่งมอบให้กับลูกค้า

ทั้งหมดนี้ สะท้อนความใส่ใจในมาตรฐานการผลิตของเกษตรกรคอนแทรคฟาร์ม ซึ่งเป็นต้นทางการสร้างหลักประกันอาหารปลอดภัย และเป็นห่วงโซ่สำคัญในการเสริมความมั่นคงอาหาร ในวิกฤตโควิด-19 นี้ได้เป็นอย่างดี