จากภูผา…สู่ป่าชายเลน “ซีพีเอฟ” ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร

นับเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ภาพรวมผืนป่าชายเลนของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ไร่  และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมแรงร่วมใจของประชาชน และทุกภาคส่วนช่วยกันปลูกป่าและป้องกันรักษาป่า

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ภาคเอกชนที่แสดงความมุ่งมั่นมีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง  ผ่านการดำเนินโครงการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน  ด้วยตระหนักดีว่าทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้นทางที่สำคัญของ “การสร้างความมั่นคงทางอาหาร”  ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำ  ซีพีเอฟจึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “สร้างความมั่นคงทางอาหาร จากภูผาสู่ป่าชายเลน”

ความร่วมมือ 3 ประสาน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  ซีพีเอฟ และชุมชนในพื้นที่ ดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” ช่วยอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าชายเลนรวม 2,388 ไร่  ในการดำเนินงานระยะที่หนึ่ง  (ปี 2557-2561)  ในพื้นที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร สงขลา ชุมพร  และพังงา ผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการฯ นอกจากเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ดีขึ้น อาทิ อาชีพการทำประมง รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่  ที่สำคัญ คือ  สร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืนของชุมชน 

ปี 2562-2566 ซีพีเอฟ เดินหน้าสานต่อโครงการฯ เข้าสู่ระยะที่สอง  มีเป้าหมายอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าใหม่ใน 3 พื้นที่  ประกอบด้วย  อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน 604 ไร่  ในจ.สมุทรสาคร และเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าใหม่   266 ไร่  ซึ่งในปี 2564  จะดำเนินการปลูกป่าใหม่ 100 ไร่   อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน จ.ระยอง 614 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าปลูกใหม่ 54 ไร่  อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนกว่า  1,000 ไร่  ในจ.ตราด โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 2 แห่ง คือ ป่าท่าพริกเนินทราย อ.เมือง จ.ตราด และ ร่วมมือกับศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน จ.ตราด สนับสนุนงานปลูกป่าท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด 

โครงการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าชายเลน ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของซีพีเอฟ ในการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ และยังเป็นโครงการที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในประเด็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน  เป็นต้น  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าชายเลนสามารถป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซ์จากพื้นที่ป่าชายเลนปลูกใหม่  อาทิ  ป่าชายเลน ในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 439 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และพื้นที่ป่าชายเลนปลูกใหม่ ในพื้นที่ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  28  ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี  

ในขณะที่ภาครัฐขับเคลื่อนเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทยให้มีสัดส่วน 40% ของพื้นที่ประเทศทั้งหมด   ซีพีเอฟ ยังคงเดินหน้ามีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ที่สำคัญ คือ  การปลูกฝังและสร้างความตระหนักให้กับชุมชนในพื้นที่หวงแหนและช่วยกันดูแลผืนป่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อส่งมอบผืนป่าที่สมบูรณ์สู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป