“ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” สู่วิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน

“เส้นทางท่องเที่ยวของชุมชนปากน้ำประแส เป็นดอกผลจากความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชน และกับทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนปากน้ำประแสอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งนำองค์ความรู้และเครือข่ายเข้ามาต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนที่กระจายรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนและสร้างความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์”​

ชุมชนปากน้ำประแส ตำบลเล็กๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของอำเภอแกลง จังหวัดระยองซึ่งนักท่องเที่ยวที่แวะมาไม่ประทับใจกับเสน่ห์ของทุ่งโปร่งทอง หนึ่งจุดไฮไลท์ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวยังได้มาสัมผัสกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวบ้าน และที่พลาดไม่ได้คือ อนุสรณ์เรือรบหลวงประแสซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็งขึ้นอีกด้วย

นางดวงฤดี ขวัญนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชน ต.ปากน้ำประแสจ.ระยอง กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีหน่วยงานรัฐและเอกชนหลายแห่ง รวมทั้ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่เข้ามาร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนของปากน้ำประแส ภายใต้ โครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ที่ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และชุมชนดำเนิน อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนพื้นที่ ต.ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง ตั้งแต่ปี 2557 – 2561 เพื่อช่วยสร้างพื้นฐานของการสร้างแหล่งอาหารมั่นคงให้กับชุมชน รวมเป็นพื้นที่ 54 ไร่ ซึ่งชุมชนร่วมมือกับซีพีเอฟเพื่อดูแลป่าอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกซ่อมแซมต้นกล้าที่ตาย การจำกัดเพรียง การเก็บขยะ จนทำให้ป่าชายเลนหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ กลายเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชน

“ปัจจุบัน พื้นที่ป่าชายเลน ต.ปากน้ำประแสเป็นป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์มาก พี่จึงชักชวนคนในชุมชนที่มีอาชีพต่างๆ เช่น ทำแจงรอน ทำกะปิทำอาหารพื้นบ้าน อาชีพขับสามล้อ ขับเรือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอัตลักษณ์ของชุมชน และสัมผัสกับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่นี่ยังได้เดินชมป่าชายเลน ชุมชนจึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มท่องเที่ยววิถีชุ มชน เผยแพร่อัตลักษณ์วัฒนธรรมของชุมชนปากน้ำประแสให้คนภายนอกได้สัมผัส ช่วยส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน นางดวงฤดีกล่าว

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ช่วยมอบกองทุนชุมชนเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและส่งเสริมอาชีพชุมชน ให้ชุมชนปากน้ำประแส จ.ระยอง ใช้เป็นกองทุนหมุนเวียนดูแลป่าและเป็นแหล่งทุนพัฒนาอาชีพ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังนำ บ.โลคอล อไลค์ จำกัด สตาร์ทอัพด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเป็นวิสาหกิจ เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันออกแบบเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนปากน้ำประแส และช่วยกระจายรายได้ให้แก่คน ชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรม และก่อให้เกิดการสำนึกรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่น

นางกาญจนา ทองประกอบ หรือ พี่นาอายุ 56 ปี เติบโตและตั้งรกรากอยู่ที่หมู่ที่ 7 ในชุมชนปากน้ำประแส ปัจจุบันประกอบอาชีพขายอาหารสดและอาหารปรุงสุกตามตลาดนัด และในงานต่างๆ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของกลุ่มฯ กล่าวว่าตนเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนมากขึ้น นอกจากสิ่งแวดล้อมในชุมชนจะอุดมสมบูรณ์นับตั้งแต่ซีพีเอฟ เข้ามาเปิดศูนย์การเรียนรู้ ซีพีเอฟปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน และนำสตาร์ทอัพมาช่วยกลุ่มชาวบ้านออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว ช่วยให้ชาวบ้านใน 8 หมู่บ้านของชุมชนปากน้ำประแสมีรายได้กันอย่างทั่วถึง รวมถึงบ้านของพี่นาเป็นตัวแทนของหมู่ที่ 7 หนึ่งในฐานของเส้นทางท่องเที่ยว สอนการทำขนมท้องถิ่นปากน้ำประแส อาทิ แจงรอนขนมบอบแบบ (ขนมนิ่มนวล)ซึ่งหมู่บ้านอื่นๆ ก็มีกิจกรรมอื่นๆ เช่น ขี่สามล้อพาไปคราดหอยกระปุก โฮมสเตย์ ทำกะปิ หรืออาหารแห้งสำหรับเป็นของฝากให้นักท่องเที่ยว เป็นต้น

“กลุ่มวิสาหกิจฯ มีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งกระตุ้นให้คนในชุมชนสามัคคีกันจากการทำงานร่วมกันเพื่อรับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญทุกคนเกิดความรักความหวงแหนบ้านเกิดของตนเอง เพราะทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศมาสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของประแสอย่างต่อเนื่อง” นางกาญนากล่าว

ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ชุมชนชาวปากน้ำประแส ได้ร่วมกันคิดและนำเงินจากกองทุนฯ มาปรับปรุงการบริการของเส้นทางท่องเที่ยว โดยนำประสบการณ์จากการศึกษาดูงานในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวในยุคนิว นอร์มอลได้มากยิ่งขึ้น