สำรวจเทรนด์ใหม่โลกที่น่าจับตา! “Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน”

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy นับเป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังถูกจับตา

ด้วยหลักการจัดการของเสียโดยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิต และบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือนำมาใช้ซ้ำ

เนื่องจากโลกของเรานับวันจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น อุณหภูมิโลกก็สูงขึ้น ขณะที่ขยะกำจัดเท่าใดก็ไม่มีวันหมด

เหล่านี้ล้วนทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นคำตอบของภาคธุรกิจเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากจะเปลี่ยนวงจรของธุรกิจให้หมุนเวียนด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด

เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ ให้เป็นวัสดุใหม่ซึ่งทรัพยากรก็เอามาจากตัวสินค้าที่ใช้แล้วนั่นเอง

ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงตั้งอยู่บนหลักการ 2 ข้อ ได้แก่

การรักษาและเพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ประเทศที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น

หันมาดูประเทศไทยกันบ้างพบว่า ในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องแผนการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การตื่นตัวของภาคธุรกิจของไทยในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นยังมีไม่มากนัก

แต่ที่โดดเด่นและน่าจับตามองที่สุดในขณะนี้ ก็คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า PTTGC มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต จัดทำโครงการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอนุรักษ์พลังงานของโรงงาน ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานลงได้ถึง 570 ล้านบาท ในปี 2560

นอกจากนี้ ยังมีโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งปี 2560 สามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 7.69 ล้านลูกบาศก์เมตร

บริษัทเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านโครงการ Upcycling Plastic Waste โดยทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษา ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ให้มุ่งมั่นพัฒนาการนำขยะพลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว มาแปรรูป ผ่านการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ หรือของตกแต่งบ้าน

ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและยาวนาน

โดยมีเป้าหมายเพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และโครงการโดดเด่นเป็นรูปธรรมแล้วคือโครงการที่ดำเนินงาน ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ประเทศสเปน เพื่อมุ่งส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะในทะเลและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยให้สวยงามอย่างยั่งยืน (Upcycling the Oceans, Thailand)

ได้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากการรีไซเคิลขวดพลาสติกนำมาจำหน่าย และใช้ในหลากหลายกิจกรรม เช่น เสื้อวิ่งมาราธอน และคาดว่าปลายปีนี้จะมีสินค้าสู่ตลาดที่จะนำมาให้ประชาชน

ได้ร่วมอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมจากการ Upcycling Plastic Waste

อีกสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทางบริษัท PTTGC ได้ให้ความสำคัญคือการปลูกฝังจิตสำนึกสู่เยาวชนในการสร้างความตระหนักรู้ตลอดจนเกิดพฤติกรรมด้านการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง

โดยผ่านโครงการโรงเรียนธนาคารขยะ ที่ทำให้นักเรียนรู้จักการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีสามารถนำไปขายเพื่อให้เกิดรายได้ และยังสร้างวินัยในการออม

พร้อมกันนี้ในปี 2561 บริษัทได้วางแผนสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการจัดการข้อมูลธนาคารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายเครือข่ายโรงเรียนธนาคารขยะกว่าอีก 10 โรงเรียน ในพื้นที่ จ.ระยอง

นอกจากนี้แล้ว ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรง Recycle Plastic เชิงพาณิชย์เพื่อเป็นตัวอย่างนำร่อง ในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร พร้อมกับส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติก Recycle

รวมทั้งการแสวงหา สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์พลาสติกกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติกได้ในระบบเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ในปี 2561 นี้ PTTGC ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำกลยุทธ์สู่เป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy Strategy โดยจะศึกษาว่าทั่วโลกได้มีการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร

โครงการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่จะต่อยอดทำอะไรได้อีกหรือไม่

รวมถึงการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับกลุ่มบริษัท PTTGC การจัดทำกลยุทธ์ดังกล่าวจะให้ความสำคัญในเรื่องของ 5Rs ต่อยอดจาก 3Rs เดิม ที่ประสบความสำเร็จอย่างดี

ประกอบด้วย Reduce (ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การแปรรูปมาใช้ใหม่) Refuse (ปฏิเสธการใช้สารเคมีที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) และ Renewable (ใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน) โดยแผนการปฏิบัติ 5Rs จะมีความเข้มข้นของการบริหารจัดการของเสียทั้งวงจรการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นสู่ผู้ใช้ทั้งกลุ่มลูกค้าจนถึงผู้บริโภค สามารถยืดอายุการใช้งานของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกฝ่ายพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนไป

รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ยอมรับในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

เพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป