E-DUANG : อารยะขัดขืน จาก เนติวิทย์ คำถาม บังคับ เกณฑ์ทหาร

การแสดง”อารยะขัดขืน” ไม่ยอมรับต่อ”การบังคับเกณฑ์ทหาร”ของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ได้ก่อให้เกิด”คำถาม”อันแหลมคมมากยิ่งขึ้นในทางการทหารและในทางการเมือง

เหมือนกับการเคลื่อนไหวของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล จะพุ่งเป้าไปยัง”กองทัพ”

แต่เมื่อเป้าคือ กระบวนการ”บังคับเกณฑ์ทหาร” อันเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวและต่อเนื่องตั้งแต่ยุคก่อนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นี่จึงเป็นการตีกระทบไปยังระบบและระบอบ

เป็นคำถามว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ส่งผลสะเทือนเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังมีการ”บังคับเกณฑ์ทหาร”ดำรงอยู่

คำถามนี้นับวันยิ่งกระหึ่ม นับวันยิ่งปรากฏคนไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากขึ้นมากขึ้นและกลายเป็น”นโยบาย”สำคัญของหลายพรรคการเมือง

สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 สังคม ก็รับรู้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคก้าวไกล

 และในวันนี้พรรคเพื่อไทยก็ดำรงอยู่ในฐานะแห่งแกนนำอยู่ใน”รัฐบาล”

 

คำถามแรกก็คือ กองทัพจะจัดการกับการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เรียกว่า”อารยะขัดขืน”อย่างไร ด้วยความรุนแรงแข็งกร้าวหรือด้วย ความละมุนละม่อม

สายตาย่อมมองไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สายตาย่อมมองไปยังกองทัพไทย

ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารบก ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ

เพราะหากปล่อย นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ลอยนวลโดยมิได้มีการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจกลายเป็นแบบอย่าง ให้กับผู้ที่อยู่ในข่ายแห่งการ”บังคับเกณฑ์ทหาร”คนอื่น

ยิ่งกว่านั้น พรรคเพื่อไทยที่เคยประกาศนโยบาย พรรคก้าวไกลที่เคยเอาจริงเอาจังยังจะเอาจริงเอาจังอยู่หรือไม่

“อารยะขัดขืน”ครั้งนี้จึงดำเนินไปอย่างแหลมคม รุนแรง

 

ยังไม่ปรากฏท่าทีใดๆจากกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ

แต่ธงทาง”ความคิด”ได้ปักลงแล้วอย่างแน่วแน่ มั่นคง

อาจกล่าวได้ว่านับแต่กระบวนการ”บังคับเกณฑ์ทหาร”เริ่มมาตั้งแต่ยุคก่อนและยุคหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา นี่คือการประกาศอย่างเปิดเผยจากชายไทย

นี่คือโจทย์ทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต้องให้คำตอบ