E-DUANG : “ความตาย” ของ ทหารเกณฑ์ คำถาม ร้อน ณ เดือนเมษายน

ไม่ว่ากรณีทหารเกณฑ์ผูกคอตาย ไม่ว่ากรณีทหารเกณฑ์โดดลงจากแฟลตในค่ายทหาร

สร้างบรรยากาศที่ไม่ดีให้กับสถานการณ์”เกณฑ์ทหาร”

แม้จะมีข่าวตามมาจากต้นสังกัดว่า ผูกคอตายเพราะโรคซึมเศร้า ไม่สามารถแก้ปัญหาความรัก โดดลงจากแฟลตเพราะ ปัญหาส่วนตัว

เท่ากับเป็นการตัดออกไปจากวงจรอันอื้อฉาวและการตกเป็น เป้าของทหารเกณฑ์ในอดีตที่เกี่ยวพันกับการเอารัดเอาเปรียบทหารเกณฑ์จนกลายเป็นปัญหา

กระนั้น ทหารที่ผูกคอตายก็เคยเป็นทหารรับใช้อยู่ในบ้านของ”นาย”

ขณะที่การโดดลงจากแฟลตของทหารจากค่ายจักรพงษ์ปรากฎรายละเอียดผ่านคลิปอย่างชัดเจนตั้งแต่เดินออกจากห้อง ปีนขึ้นไปแล้วตัดสินใจโดด

เพียงเห็นรายละเอียดจากภาพก็นำไปสู่ความคิดต่อเนื่องติด

ตามมาอย่างไม่ขาดสาย ขณะที่การสนทนาผ่านไลน์ของทหารที่ผูกคอตายก็กลายเป็นคำถาม

ทุกอย่างล้วนดำเนินไปในลักษณะอย่างที่โบราณสรุปรวบรัดว่า”ขว้างงูไม่พ้นคอ”

 

ผลสะเทือนจากการตายของทหารเกณฑ์ทำให้กระบวนการเกณฑ์ทหารที่จะเริ่มตามวงรอบในเดือนเมษายนได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในทางสังคม

ขณะที่คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ก็เปิดโครงการ”พลทหารปลอดภัย”ขึ้น

และเมื่อการตายของทหารเกณฑ์กลายเป็นกระแสในลักษณะอันเรียกได้ว่าเป็น”ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์”เนื่องจากคน หนึ่งเป็นทหารรับใช้บ้าน”นาย”

คำสั่งล่าสุดจาก นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหมก็คือ นับแต่นี้เป็นต้นไปจะต้องไม่ส่งทหารเกณฑ์ไปทำงานรับใช้ใน”บ้านนาย”อีก

นี่คือโจทย์อันแหลมคมและร้อนแรงยิ่งในบรรยากาศแห่งการเสนอคำขวัญ”สมัครใจเป็นทหาร”ของพรรคเพื่อไทย

และยกเลิก”บังคับเกณฑ์ทหาร”โดยพรรคก้าวไกล

 

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่แนวทางในการบังคับเกณฑ์ทหารได้ถูกท้าทาย

จากนโยบายของพรรคก้าวไกลประสานกับพรรคเพื่อไทย

พรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวให้”ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร”ตั้งแต่ ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็เน้นให้เข้าสู่การเป็นทหาร”ด้วยความสมัครใจ”

แสงแห่งสปอตไลต์ย่อมฉายจับไปยังกระบวนการ”บังคับเกณฑ์ทหาร”ในเดือนเมษายนด้วยความร้อนแรงแน่นอน