E-DUANG : จับตา ญัตติ อภิปรายทั่วไป เป้า ไม่ใช่ “นายกรัฐมนตรี”

ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติไว้วางใจ ไม่ว่าจะยื่นโดยสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าจะยื่นโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน อยู่ในความสน ใจเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ทั้งๆที่เป็นการดำเนินตามมาตรา 152 มิได้เป็นมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ

ความสนใจมิได้อยู่ที่”เนื้อหา” หากแต่มาจาก”เงื่อนงำ”

เป็นเงื่อนงำอันกลายเป็นปมในทางการเมืองเนื่องแต่สถานการณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566

ไม่ว่าจะมองผ่าน”ส.ว.” ไม่ว่าจะมองผ่าน”ก้าวไกล”

ไม่เพียงเพราะว่าในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีส.ว.จำนวนหนึ่งยืนขานชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยให้เป็น นายกรัฐมนตรีเท่านั้น

หากแต่ยังอยู่ที่มีข่าวตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 แล้วว่ามี”ดีลลับ”ทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบนเกาะลังกาวี ไม่ว่าจะเป็นบนเกาะฮ่องกง

ความร้อนแรงไม่เพียงเพราะสว.ที่จะอภิปรายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ได้มีบทบาทอย่างไร

หากในพรรคร่วม”ฝ่ายค้าน”ก็ล้วนสัมพันธ์กับ”ดีลลับ”

 

ภาพที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง รายละเอียดของดีลลับบน เกาะลังกาวี มาเลเซีย อาจเป็นภาพของนายทหาร”ใหญ่”ทั้งนอกและในประจำการ

ข่าวดีลลับที่ฮ่องกงปรากฏว่ามีนักการเมืองคนสำคัญหลายคนถูกอ้างอิงชื่อและออกมายอมรับ

ไม่ว่าจะเป็น”อนาคตใหม่” ไม่ว่าจะเป็น”ประชาธิปัตย์”

แม้พรรคก้าวไกลอันต่อเนื่องจากพรรคอนาคตใหม่จะมิได้มีบทบาทหนุนเสริมการจัดตั้ง”รัฐบาลพิเศษ”ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่ามีสส.จำนวนหนึ่งของพรรคประชาธิ ปัตย์ร่วมในการขานชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

คำถามจึงมิได้อยู่ที่ว่าสว.จะอภิปรายอย่างไร หากอยู่ที่ว่าคนของพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์จะอภิปรายอย่างไร

 

บทบาทของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติจากเหล่าสว.และจากพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงน่าสนใจภายใต้คำถามที่ว่ามวยล้มต้มประชาชนหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ตัวละครที่อาจจะถูกอภิปรายและเอ่ยชื่อครั้งแล้ว ครั้งเล่าอาจมิได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เป็นรัฐบาลจาก เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566

ตรงกันข้าม กลับจะเป็นชื่อของ”อดีต”นายกรัฐมนตรี และอาจเป็นชื่อของ”ว่าที่”นายกรัฐมนตรีผนวกรวมไปด้วย