E-DUANG : พลังแฝง ร่าง คุ้มครองแรงงาน ยืดเยื้อ ลากยาว ถึง”เลือกตั้ง”

ในทางรูปแบบร่างพรบ.คุ้มครองแรงงาน(ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต)

เมื่อไม่ผ่านวาระ 1 ด้วยคะแนนเสียง 252 ต่อ 149 นั่นหมายถึงบทจบ นั่นหมายถึงการสิ้นสุด

หมดบทบาทไม่เพียงแต่ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง หากทำท่าว่าอาจจะสิ้นเชิงด้วยซ้ำ แต่บรรยากาศอันอวลจนกลายเป็น”กระแส”หมายถึงอะไร

หมายถึงความดื้อรั้นไม่ยอมรับใน”ความเป็นจริง” ไม่ยอมรับใน”ความพ่ายแพ้” ภายใต้กระบวนการ”นิติบัญญัติ”แห่งระบบรัฐ สภาที่มีอยู่ของพรรคก้าวไกล กระนั้นหรือ

อาจตีความอย่างเถรตรงในลักษณะคัมภีร์เช่นนั้นได้

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ยังมี”พลัง”อันแฝงอยู่กับร่างพรบ.คุ้มครองแรงงาน(ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต)สะท้อนออกจนกลายเป็น”ปรากฏการณ์”ในทางการเมือง

ความต่อเนื่องไม่เพียงแต่สัมผัสได้ในแต่ละ”วิวาทะ”ในสังคมโซเชียล มีเดีย อย่างคึกคักหนักแน่น ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายที่เห็นด้วย ไม่ว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

กระทั่ง ช่องทาง”สื่อ”อันได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจำเป็น ต้องให้ความสนใจ เปิดกระบวนการดีเบตขึ้น

 

คำถามก็คือ หากเรื่องของ”แรงงาน”ไม่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่างเป็นจริงในทางรูปธรรม บรรดาสื่อที่เรียกว่า”กระแสหลัก”จะยังให้”ความหมาย”อยู่อีกหรือ

เพียงเห็นภาพและเสียงอันปรากฏผ่าน”กรรมกรข่าวนอกจอ”ก็รู้แล้วว่าเรื่องนี้น่าจะยาวววววว และมีความต่อเนื่องงงงง

ยาวในปมทาง”การเมือง” ต่อเนื่องในทาง”ความคิด”

หากถือว่าร่างพรบ.คุ้มครองแรงงาน(ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต)

ดำรงอยู่ในสถานะแห่งการ”ปักธง”ในทาง”ความคิด”อันเป็นกระบวนการของพรรคก้าวไกล

ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคแห่งพรรค อนาคตใหม่ในมือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในมือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และในมือ นส.พรรณิการ์ วานิช ประสบผลสำเร็จ

เป็นความสำเร็จที่ทำให้พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย จำเป็นต้องตั้ง”รับ”ในทางความคิดและในทางการเมือง

 

เมื่อมองผ่านสีหน้าของ นายเซีย จำปาทอง ของ นส.วรรณวิภา ไม้สน ตลอดจนดวงตาของ นายสหัสวัต คุ้มคงไม่ปรากฏความท้อแท้ หากเด่นชัดในความมุ่งมั่น

มั่นใจได้เลยว่า การยึดครอง”พื้นที่”จะยังเป็นของพรรคก้าวไกล ภาระในการตอบ”คำถาม”จะยังเป็นของพรรคเพื่อไทยและยังเป็นของพรรคภูมิใจไทย

ลักษณะที่ยืดเยื้อจะลากยาวไปจนถึงการเลือกตั้งทุกระดับที่จะตามมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ยากที่จะจบได้โดยง่าย