E-DUANG : เงื่อนไข โหวตให้ พรรคเพื่อไทย ประชามติ ถามต่อ “ประชาชน”

มติของพรรคก้าวไกลให้ สส.แต่ละพื้นที่ออกไปดำเนินการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้ยกมือโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยจากพรรคเพื่อไทยสำคัญ

หากไม่สำคัญ นส.แพทองธาร ชินวัตร คงไม่นำขบวนเดินทางจากพรรคเพื่อไทยไปพรรคก้าวไกลด้วยตนเอง

หากไม่สำคัญ นายภูมิธรรม เวชยชัย คงไม่ประกาศอย่างเป็นการเปิดเผยต่อสาธารณะว่า พร้อมที่จะ”ขอโทษ” พร้อมที่จะ”ขอขมา”ต่อพรรคก้าวไกลในสิ่งที่เคยทำมา

ขณะเดียวกัน มติของพรรคก้าวไกลในการสำรวจความเห็นประชาชนในกระสวนแบบเดียวกับ”ประชามติ”ก็เป็นเครื่องมืออันทรงความหมายยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

มีคำถามตามมาว่าจำเป็นอะไรที่พรรคก้าวไกลจะต้องทำให้ เรื่องรุงรังจนเกินกว่าเหตุ เพราะสส.แต่ละคนก็สามารถใช้ดุลพินิจตนออกมาเป็นแนวทางและนำไปสู่มติได้

ที่ว่าทรงความหมายเพราะเท่ากับเป็นการสอบถามความรู้สึกของประชาชน เท่ากับเป็นการให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนก่อนการตัดสินใจ

ปฏิบัติการนี้จึงสะท้อนสะเทือนไปยังพรรคการเมืองอื่น

 

ต้องยอมรับในความเคยชินเดิมทางการเมืองที่เมื่อการเลือกตั้งจบสิ้นลง อำนาจของประชาชนก็จบไปด้วย เหมือนที่เคยมีบทสรุปต่อเนื่องมาไม่ขาดสาย

นั่นก็คือ อำนาจของประชาชนมีเพียง 4 วินาทีในการตัดสินใจกา แต่หลังจากนั้นก็หมดอำนาจ

ไม่เพียงแต่สส.จะกระทำอะไรโดยไม่ปรึกษาโหวตเตอร์อันเคยเป็นรากฐานของตน หากแม้กระทั่งพรรคการเมืองก็แทบไม่มีกระบวนการสอบถาม

การเลือกจะร่วมกับพรรคการเมืองใดเป็นเรื่องของผู้บริหาร พรรค การตกลงและจับมือกันดำเนินการอย่างเงียบเชียบในที่ประ ชุมอย่างเป็นการจำเพาะ มีมติแล้วค่อยประกาศ

บนพื้นฐานความเป็นปกติในทางการเมืองเช่นนี้เองการเกิด MOU จึงเป็นเรื่อง”ผิดปกติ”กลายเป็น”ความแปลกแยก”

 

ในความผิดปกติของ MOU ที่ริเริ่มโดยพรรคก้าวไกลได้ค่อยๆเป็นเรื่องปกติมากยิ่งขึ้น พลันที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจเทพรรคก้าวไกลออกจากสมการในทางการเมือง

การหวนไปร้องขอการโหวตจึงได้กลายเป็นคำถามยิ่งพรรคก้าวไกลมีมติให้มีการรณรงค์ในท่ามกลางโหวตเตอร์ เพื่อหาบทสรุปออกมาว่าจะยกมือให้ หรือจะไม่ยกมือให้ยิ่งกลายเป็นคำถามอันสลับซับซ้อน

กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ กลายเป็นประเด็นแหลมคมในสังคมการเมือง

ประเด็นต่อ”นักการเมือง” ประเด็นต่อ”พรรคการเมือง”