E-DUANG : ทางเลือก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนเส้นทาง เปรม ติณสูลานนท์

คำประกาศอำลาและวางมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดขึ้นในห้วงเวลาและบรรยากาศอันยอดเยี่ยมยิ่งใน ทางการเมือง

ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบไปถึงการตัดสินใจเปล่งคำ”ผมพอ แล้ว”ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2531

เท่ากับเมื่อ”วางดาบ”ก็บรรลุถึงความเป็น”อรหันต์”

เท่ากับเมื่อดำเนินการผ่านพิธีกรรมการล้างมือในอ่างทองคำ ก็ตัดตนเองออกไปจากวงจรแห่งยุทธจักรอันเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีระหว่างกัน

ดำรงอยู่ในสถานะเดียวกันกับ”องคุลีมาล”ที่พลันคิดได้เมื่อได้ยินวัจนะจากท่านศากยะมุนีที่ว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านล่ะ”

คำถามก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดจริงละหรือ คำถามก็คือ การได้มาซึ่งอำนาจโดยกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นดำเนินมาอย่างไร

เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้นที่รู้ ไม่เพียงแต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เท่านั้นที่รู้

ถามว่าพรรคเพื่อไทยรู้หรือไม่ ถามว่าพรรคก้าวไกลรู้หรือไม่

 

แท้จริงแล้ว กระบวนการได้มาซึ่ง”อำนาจ”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียวเท่านั้นหรือ

หากเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่า พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่เกี่ยว

ถามว่า”อำนาจ”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มาอย่างไร ไม่มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายแห่ง”บูรพาพยัคฆ์”เลยหรือ ไม่มีความสัมพันธ์กับกระบวนการ”รัฐประหาร”เลยละหรือ

ถามว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่อย่างไร ถามว่าในสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่อย่างไร

เหตุใดการตัดสินใจเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงสัมพันธ์กับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

 

ปมที่แวดวงการเมืองควรให้ความสนใจก็คือ ด้านหนึ่ง มีการวางมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ยังดำรงคงอยู่

อำนาจของ 250 ส.ว.ยังสามารถชี้ทิศทางการเมืองไทย

แม้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้คะแนนกว่า 14 ล้าน และได้รับการหนุนเสริมจาก 7 พรรคที่นำโดยพรรคเพื่อไทย แต่ปฏิบัติ การสกัดขัดขวางยังดำรงคงอยู่หรือไม่

ความคึกคักของ 250 ส.ว.จึงเท่ากับเป็นคำตอบ การยืนยันของพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นคำตอบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแต่”ระบอบ”ยังคงอยู่