E-DUANG : เหตุที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่หวนคืน “ประชาธิปัตย์”

การปฏิเสธที่จะหวนคืนไปชิงตำแหน่ง”หัวหน้าพรรค”ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังแสดงบทบาทและความหมายในทางการเมืองออกมาเป็นลำดับ

เป็นความหมายอันชี้ถึงสภาพและการดำรงอยู่ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นบทบาทอันรัดกุมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แม้ภายหลังการลาออกของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จะปรากฏการเคลื่อนไหวบางอย่างอันสามารถโยงสายยาวไปยังตำ แหน่ง”หัวหน้าพรรค”ประชาธิปัตย์ได้

ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้าของ นายกรณ์ จาติกวณิช กระแสเรียกร้องที่ต้องการให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หวนคืน

กระนั้น ภายในเวลาอันสั้นบรรดา”แคนดิเดต”ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ดำเนินไปอย่างมีการจำกัดกรอบและขอบเขตพลันที่ นายกรณ์ จาติกวณิช ไม่แสดงท่าทีว่าต้องการหวนคืน

สู่พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเงื่อนไขต่อปัญหาที่ยังมิได้มีการคลี่คลายภายในพรรค

แม้มีชื่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร ขึ้นมาก็ตกอยู่ในความเงียบ

 

ความเงียบภายในพรรคประชาธิปัตย์เพราะรู้กันอยู่เป็นอย่างดีว่าอำนาจและการนำของพรรคประชาธิปัตย์ในห้วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในมือของกลุ่มใด

เด่นชัดว่ามิได้เป็นการนำอย่างสมบูรณ์ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ แม้จะเป็นหัวหน้าพรรคก็ตาม

ตรงกันข้าม การเคลื่อนไหวในแต่ละก้าวย่างของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในเครือข่ายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน กับเครือข่าย นายนิพนธ์ บุญญามณี

ยิ่งผลการเลือกตั้งยืนยันอย่างเด่นชัดว่าด้านหลักของพรรค ประชาธิปัตย์คือพื้นที่ภาคใต้ก็ยิ่งสะท้อนการกระชับอำนาจระหว่าง”เฉลิมชัย+นิพนธ์”อย่างชัดเจน

ไม่ว่าการเข้ามาของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าการเข้ามา ของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ก็แทบไม่มีความหมายอะไร

 

ความนิ่งเฉยของ นายกรณ์ จาติกวณิช จึงเท่ากับเป็นคำตอบ การไม่หวนคืนเข้ามาเป็นผู้ชิงของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงผ่านการวิเคราะห์ แยกแยะมาแล้วในองค์ประกอบความหมายก็คือ เป็นสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้เวลา”รอ”

รอดูบทบาทและการขับเคลื่อนพรรคประชาธิปัตย์ในมือของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ประสานเข้ากับบารมีทางการเมืองของ นาย นิพนธ์ บุญญามณี

บนพื้นฐานที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรค”ระดับภาค”และรอการปรับลดลงเป็นพรรคระดับ”จังหวัด”

จังหวะก้าว “กรณ์”และ”อภิสิทธิ์”จึงต้องให้ความสนใจ