E-DUANG : สะพานเชื่อม ความคิด การเมือง ตุลาคม 2516 มาถึง ณ ปัจจุบัน

เห็นภาพของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปรากฏตัว ณ ศาลอาญา รัชดา พร้อมกับภาพของ นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เพื่อเป็น ”นายประกัน” ให้กับคดีของ น.ส.ปภัสยา สิทธิวัฒนจิรกุลและคณะ

หลายคนอาจไม่แปลกใจเพราะยังได้เห็นภาพของ นายกฤษ ฎางค์ นุตจรัส ยืนอยู่ไม่ห่างออกไปในฐานะ”ทนายความ”

ไม่ว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง ไม่ว่า นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ไม่ว่า นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ล้วนเป็น”เหยื่อ”จากชะตา กรรมอันเนื่องแต่สถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

อย่าได้แปลกใจหากว่าพวกเขาเสนอตัวเป็น”นายประกัน”ให้กับคดีของ น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและคณะ ซึ่งต้องคดีจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

การแสดงออกของพวกเขากระทำในนามกลุ่ม OctDem นั่นก็คือ ขบวนประชาธิปไตยเดือนตุลาคม

นี่คือการเชื่อมคนยุค”เดือนตุลาคม”ประสานกับ”ราษฎร”

ยิ่งเมื่อลงลึกไปในรายละเอียดตัวบุคคลอันประกอบส่วนขึ้นเป็น “นายประกัน” ยิ่งมากด้วยความตื่นตา ตื่นใจ

 

ด้านหนึ่ง จะเห็นชื่อของ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชื่อของ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชื่อของ นายพนัส ทัศนียานนท์ และชื่อของ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ชื่อของ นายอนุช อาภาภิรม

คนซึ่งผ่านบรรยากาศตั้งแต่ก่อนเดือนตุลาคม 2516 กระทั่งบรรยากาศก่อนเดือนตุลาคม 2519 ย่อมคุ้นกับชื่อเหล่านี้ดี

ขณะเดียวกัน เมื่อเห็นชื่อของ นายสวาย อุดมชัยเจริญกิจ เห็นชื่อของ นายจาตุรงค์ บุณยรัตสุนทร เห็นชื่อของ น.ส.ประพิมพรรณ สุดชูเกียรติ เห็นชื่อของ นายบุญเจริศ ศิริเนาวกุล 

ก็ตระหนักในบทบาทและการเคลื่อนไหวที่คนเหล่านี้ดำรงอยู่ เคียงคู่กันมากับ นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ อย่างแนบแน่น

นี่คือมือแห่งไมตรีจากคนยุค”เดือนตุลาคม”มายัง”ปัจจุบัน”

 

ไม่ว่าบทบาทและการเคลื่อนไหวของ น.ส.ปภัสยา สิทธิวัฒนจิรกุล ในนามของ”ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” ไม่ว่าบทบาทและการ เคลื่อนไหวของคนยุค”เดือนตุลาคม”

สะท้อนให้เห็นการเชื่อมร้อยในทาง”ความคิด”อย่างแหลมคม

แสดงให้เห็นว่ามรดกทางความคิดและบทเรียนการเคลื่อนไหวสามารถประสานและกลมกลืนมาเป็น”บทเรียน”ได้

และกลายเป็นคำถามสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกในปัจจุบัน