E-DUANG : พลานุภาพ บริหาร จัดการ รองรับ บารมี อองซาน ซูจี

ภาพการเคลื่อนไหวต่อต้าน”รัฐประหาร”ที่ปรากฏขึ้นในสังคมประเทศพม่านับจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นความนิยมต่อ นางอองซาน ซูจี

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังยืนยันถึงความแข็งแกร่งของพรรคของ นางอองซาน ซูจี ว่าหนักแน่นเพียงใด

ความหนักแน่นในที่นี้คือความหนักแน่นในการจัด”องค์กร”

แท้จริงแล้ว คะแนนที่พรรคของ นางอองซาน ซูจี ได้มาในการ เลือกตั้งเมื่อปี 2558 ก็เห็นอย่างเด่นชัดว่าได้รับความนิยมเหนือกว่า พรรคของทหารอย่างเป็นรูปธรรม

แม้ทหารจะครองอำนาจอย่างยาวนานนับแต่ปฏิบัติการรวบและกระชับอำนาจในเดือนสิงหาคม 2531 ยาวนานและต่อเนื่องมา เป็นเวลาถึง 50 กว่าปี

กระนั้น เมื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้งพรรคของ นางอองซาน ซูจี ก็กำชัยชนะเหนือกว่าอย่างงดงาม

และเมื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563 ยิ่งเป็นชัยชนะที่ได้มามากกว่าถึงร้อยละ 80 เท่ากับยึดครองเสียงข้างมากเกือบเบ็ดเสร็จ

 

ชัยชนะไม่ว่าเมื่อปี 2558 ไม่ว่าในปี 2563 โดยพื้นฐานอาจเป็นเพราะชื่อเสียงและเกียรติภูมิในการยืนหยัดต่อสู้ของ นางอองซาน ซูจี ว่าอยู่ในใจของประชาชนมากน้อยเพียงใด

แต่ชื่อเสียงและเกียรติภูมินี้แทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากไม่มีการแปรไปสู่การบริหารจัดการ”องค์กร”อย่างเข้มแข็ง

นั่นคือ การแปรความนิยมมาเป็น”คะแนนเสียง”การเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน เมื่อประสบกับการสกัดขัดขวางในทางการเมืองคะแนนและความนิยมซึ่งเคยเป็นคะแนนเสียงของการเลือกตั้งก็แปร มาเป็นพลังในทางการเมืองอย่างมีกัมมันตะ

สัมผัสได้ไม่ว่าจะเป็นชาวพม่าในประเทศ หรือชาวพม่าที่พักอาศัยและทำงานอยู่ในต่างประเทศ

หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบคงไม่อึกทึกเพียงนี้

 

พลังอันสามารถสำแดงเป็นพลานุภาพในทางการเมืองได้ในระดับที่เราเห็นผ่านการเคลื่อนไหวไม่ว่าที่ย่างกุ้ง ไม่ว่าที่มัณฑะเลย์เช่นนี้จัดได้ว่าเป็นพลานุภาพอันสะท้อน”กัมมันตะ”เป็นอย่างสูง

นั่นหมายถึงการปักธง”ความคิด”อันเข้มแข็ง จึงได้สำแดงออกมาเป็นปฏิบัติการทาง”การเมือง”ได้ขนาดนี้

พลังและความสามารถในการบริหารจัดการ”องค์กร”จึงสำคัญ