E-DUANG : ​​​ธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2563 ​​​ธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519

การตัดสินใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อ “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ถือว่ามากด้วยความอ่อนไหวต่อจิตวิญญาณแห่งความเป็น”ธรรมศาสตร์”อย่างยิ่งอยู่แล้ว

การตัดสินใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อ”44 ปี วีรชน 6 ตุลาคม”ในกรณีของ เพนกวิน รุ้ง ทนายอานนท์

ยิ่งสะเทือนถึงจิตวิญญาณ”ธรรมศาสตร์”อย่างถึงราก

ไม่ว่าจะมองจากวรรคทองอัน เปลื้อง วรรณศรี เคยตราเอาไว้อย่างจำหลักหนักแน่น “ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็ขาด สัญลักษณ์ พิทักษ์ธรรม”

ไม่ว่าจะมองจากวรรคทองอันมาจาก นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ที่ว่า ทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเสรีภาพ

แม้ว่าหัวข้อที่คณะกรรมการกำหนดให้ นายอานนท์ นำพา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และ น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เข้าร่วมเสวนาคือให้มอง 6 ตุลาคมในสายตาของคนรุ่นใหม่

กระนั้น พลันที่มีการเซ็นเซอร์ มีการสั่งห้ามมิให้ได้ขึ้นเวทีก็ย่อมจะสะเทือนถึงความรู้สึกของ”วีรชน 6 ตุลาคม”อย่างลึกซึ้ง

 

โศกนาฎกรรมอันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ 44 ปีก่อนมีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะมองผ่านสถานที่ ไม่ว่าจะมองผ่านตัวบุคคล

หากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ก็คงจะไม่มี”ห้องจารุพงษ์ ทองสินธุ์”ปรากฏขึ้นในอีก 40 ปีต่อมา

หากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ย่อมไม่มีบทเพลง”ประเทศกูมี”กึกก้อง

ไม่จำเป็นต้องให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์อย่าง นายธงชัย วินิจจะกูล นายเกษียร เตชะพีระ มาฟื้นรำลึกเหมือนที่ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ กระทำอย่างต่อเนื่องกับ 14 ตุลาคม 2516

ภาพและสถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ย่อมจำหลักอย่างหนักแน่นกับทุกคนอันเป็นสมาชิกแห่งประชาคมธรรมศาสตร์ ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน

ในที่นี้รวมถึงคนรุ่นใหม่อย่าง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ อย่าง น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อย่างเด่นชัด

 

การห้ามโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่เพียงแต่ทำให้สถานะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใกล้เคียงกับสถานะของนวพลและกระทิงแดงที่บุกเข้าไป

เข่นฆ่า ทำร้ายแม้กระทั่งศพของ”วีรชน 6 ตุลาคม”

เพียงแต่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516 กระทำโดยตรง ขณะที่เมื่อถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2563 กระทำในเชิงปฏิมาและความคิด