E-DUANG : บทเรียน กรณี อาม่าตบเด็ก การปะทะ ในทาง วัฒนธรรม

ไม่ว่าการโชว์ภาพ “ชายจูบชาย” ณ รัฐสภา ไม่ว่าการแชร์ภาพ”อาม่าตบเด็ก”จากอัสสัมชัญ สมุทรปราการ ไม่ว่าการแย่งไมค์จาก”อธิบดีรุ่น ลูก”ระหว่างการแถลงข่าว

ล้วนสะท้อนให้เห็น CRISIS ในทางความคิด เป็นภาพการเมือง เชิง “วัฒนธรรม”

แต่จะดำเนินไปในกระสวนอันเป็น PROXY หรือไม่ยังน่าสงสัย

เพราะว่าการโชว์ภาพ “ชายจูบชาย” ก็มิได้เป็นการหลอกล่อ ขณะที่เมื่อภาพ “อาม่าตบเด็ก” ปรากฏก็ตามมาด้วย”เด็กตบอาม่า”เอาคืน

ยิ่งภาพปฏิบัติการแย่งไมค์จาก”อธิบดีรุ่นลูก” ยิ่งมีการเผยแพร่กระทั่งกลายเป็น “ไวรัล”

สะท้อน “ปฏิกิริยา” สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกในทาง”สังคม”

 

ความตระหนกตกประหม่าอันออกมาจากรัฐสภา ไม่ว่าจะจาก ส.ส.ไม่ว่าจะจาก ส.ว.ต่อกรณีการโชว์ภาพ”ชายจูบชาย” เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

บางคนอาจเรียกร้องเพียงขอให้ออกมา “ขอโทษ”

บางคนดุเดือด รุนแรงแข็งกร้าวถึงกับเรียกร้องให้ ส.ส.เจ้าของอีเว้นท์นี้ต้องลาออกจากสมาชิกภาพ

แต่ถามว่า ฝ่ายที่ตกเป็น”จำเลย”กลัวหรือไม่

คำตอบของสถานการณ์”ชายจูบชาย”ต้องอ่านผ่านสถานการณ์

“อาม่าตบเด็ก” อันนำไปสู่สถานการณ์ “เด็กตบอาม่า”จากโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านสมุทรปราการ

นี่คือสถานการณ์แห่งการไม่หวาดกลัว นี่คือสถานการณ์แห่งการเอาคืน เหมือนอุณหภูมิทางสังคมที่มีการเผยแพร่ปฏิบัติการแย่งไมค์จาก “อธิบดีรุ่นลูก”

นี่คือการปะทะระหว่างเพศสภาพ นี่คือการปะทะระหว่างวัย

 

ลองย้อนกลับไปดูสถานการณ์การจัดทำพานไหว้ครู ลองย้อนกลับไปดู การจัดขบวนพาเหรดตามสถานศึกษาต่างๆ ลองย้อนกลับไปดูการเผย แพร่คลิป 2 คลิปที่แตกต่างกัน

1 คือการจัดขบวนต้อนรับการมาของผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในสระบุรี

1 คือการจัด”ม็อบ”ไม่ยอมเปิดประตูให้ผู้อำนวยการใหม่ที่เพชรบุรี

ไม่ต่างอะไรเลยกับ”อาม่าตบเด็ก”และ”เด็กตบอาม่า”

นี่มิได้เป็นวิกฤตอย่างที่เรียกว่า Proxy Crisis หากเล่นกันโดยตรง ไม่ปิดบังซ่อนเร้น