E-DUANG : กระบวนท่า แนวร่วม อนาคตใหม่ กระบวนท่า แนวร่วม รัฐธรรมนูญ

ทำไมบนเวทีเสวนาเสาะหา “จินตนาการใหม่ ฉันทามติใหม่”เพื่อนำไปสู่การรณรงค์แก้ไข”รัฐธรรมนูญ”ของพรรคอนาคตใหม่ ณ พุทธสถานเชียงใหม่

จึงต้องมี นายกษิต ภิรมย์ จึงต้องมี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

นอกเหนือจากมี น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา นอกเหนือจากมี นาย โคทม อารียา

นี่คือจังหวะก้าวในการสร้าง”แนวร่วม”

นี่คือรูปธรรมสำคัญในการยื่นมือเข้าไปไม่เพียงแต่คนทำงานภาคประชาชนอย่าง น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา หรือปัญญาชนแนวทางสันติอย่าง นายโคมทม อารียา เท่านั้น

หากแต่ไปไกลถึงระดับที่จับเข่าคุยกับ นายกษิต ภิรมย์ และ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

 

สังคมรับรู้บทบาทของ นายกษิต ภิรมย์ ในห้วงแห่งการเคลื่อนไหว ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

จากบทสรุปที่ว่า “อาหารดี ดนตรีไพเราะ”

จากความเป็นจริงที่พรรคประชาธิปัตย์แต่งตั้ง นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ณ วันนี้ เขาเป็นที่ปรึกษา”ครป.”

เช่นเดียวกับ บทบาทของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่เคียงบ่าเคียงไหล่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล อยู่ที่”องค์กรกลาง”

และต่อมาก็ได้เป็น “กกต.”

บทบาทของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในห้วงแห่งการชัตดาวน์กทม.และการจัดเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีความ เด่นชัดอย่างยิ่ง

จึงไม่แปลกที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จะเดินตาม นายกษิต ภิรมย์ เข้าไปในพรรคประชาธิปัตย์

นั่นคือ ภาพของ นายกษิต ภิรมย์ นั่นคือภาพของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในอดีต

 

การเชิญ นายกษิต ภิรมย์ การเชิญ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร มีความสำคัญ การตอบรับจาก นายกษิต ภิรมย์ การตอบรับจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ก็สำคัญ

สำคัญตรงที่แต่ละฝ่ายต่างยื่นมือเข้าไปหากัน สำคัญตรงที่การจับมือกันคือการสร้างจุดร่วมในทางการเมือง

อย่างน้อยก็มี”รัฐธรรมนูญ”เป็นเป้าหมายร่วมกัน