E-DUANG : “อารมณ์” ของ “นายกรัฐมนตรี” ในห้วง แห่งทางเลือก การเมือง

อาการหงุดหงิดล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง

นี่คือ “สถานะ” ที่เปลี่ยนไป

อาการหงุดหงิดเช่นนี้มิได้เป็นครั้งแรกอย่างแน่อน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเกิดขึ้นเมื่อใดและในสถานการณ์เช่นไร

แรกๆผู้คนอาจจะงุนงง ไม่เข้าใจ

แรกๆผู้คนอาจจะรู้สึกและเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารัก น่าเอ็นดู สะท้อนว่านายกรัฐมนตรีก็เป็นปุถุชนเหมือนกับคนธรรมดาโดยทั่วไป

แต่เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งและดำเนินไปอย่างซ้ำซากก็เริ่มมองเห็นว่าเป็นสภาพความเป็นจริงอันดำรงอยู่ในตัว

เรียกตามภาษาพระก็ต้องว่า เป็น”วาสนา

 

การได้ประสบกับอาการหงุดหงิด ปะทุอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำไปสู่ความรู้สึกเปรียบเทียบอย่างเป็นรูปธรรมแตกไปตามกาละ ตามเทศะ

เป็นไปตามแต่ละ”สถานะ”ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละ”กาละ”

ความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งก็คือ อาการเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นครั้งเดียว หากแต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ตัวท่านเองก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องไม่ดี

ตัวท่านเองก็ยอมรับว่า เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่เตือนให้สงบระงับอารมณ์

สะท้อนว่า การแสดงอาการอย่างนี้ไม่เป็นผลดี

จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2561 กระทั่งมายังเดือนสิงหาคม ไม่เพียงแต่”สื่อมวลชน”เท่านั้นที่ได้ประสบ

หากประชาชนไทยก็รับรู้ในความหงุดหงิด ผันผวนทางอารมณ์ของ “นายกรัฐมนตรี”

เท่ากับยืนยันในเรื่องของ EQ อย่างเป็นรูปธรรม

 

ปะทุแห่งอารมณ์หงุดหงิดอันเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ในห้วงเวลาอันแหลมคมเป็นอย่างสูง

เพราะเป็นเดือนท้ายสุดของการตัดสินใจทางการเมือง

นั่นก็คือ การตัดสินใจและจะประกาศให้สังคมได้รับทราบว่าจะยุติบทบาทหรือจะเดินหน้าต่อไปในทางการเมือง

นี่จึงเป็นห้วงเวลาอันทรงความหมายยิ่งต่อประเทศไทย