E-DUANG : บทเรียน พฤษภาคม 2535 รัฐประหาร พฤษภาคม 2557

แม้จะเคยผ่านสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 มาด้วยกัน แต่เมื่อมาถึงสถานการณ์หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

มุมมองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของหลายคนในแวดวงทางการเมืองก็แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเพียง 2 คนก็น่าจะพอ

นั่นก็คือ มุมที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองแตกต่างไปจากมุมที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน มอง

ไม่ว่ามุมต่อ “รสช.” ไม่ว่ามุมต่อ “คสช.”

นั่นก็เพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองจากภายนอก นั่นก็เพราะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน มองจากภายใน

จุดที่ยืนมองจึงทรงความหมาย

 

ต้องยอมรับในสถานการณ์ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และภายหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535

พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ อยู่กันคนด้าน

พรรคกิจสังคมที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน สังกัด เข้าร่วมเป็นส่วนประกอบของรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สังกัด ถูกกวาดไปรวมอยู่กับพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม

จึงมองเข้าไปภายในรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ว่าไม่น่าจะยืนยาว

ตรงกันข้าม แม้ระหว่างจัดตั้งรัฐบาล นายมนตรี พงษ์พานิช พี่ใหญ่ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะประสบเข้ากับสภาพที่คสช.บางคนพกพาอูซี่เข้าไปในโต๊ะเจรจา

แต่พรรคกิจสังคมก็ยังรับตำแหน่งเป็น”รัฐมนตรี”

 

มาถึงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่มีใครแน่ใจว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะสรุปมาเป็น บทเรียนทางการเมืองอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีว ยืนยันไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ และเข้าร่วมปฏิบัติการ”พลังดูด” อย่างเอาการเอางาน

ใครถูก ใครผิด หลังการเลือกตั้งมี “คำตอบ”