E-DUANG : กระแส สังคม อยากเลือกตั้ง สัญญาณ เตือน ไปยัง”คสช.”

แม้กำหนดวันเลือกตั้งอันออกมาจากกกต.ที่ว่าน่าจะเป็นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะเสมอเป็นเพียง”ตุ๊กตา” หรือเป็น”ทฤษฎี” แต่ก็บัง เกิดความลิงโลดเป็นอย่างสูง

สัมผัสได้จาก “พาดหัว” ของสื่อ “หนังสือพิมพ์”

การออกมาเรียงหน้าแถลงของคณะกรรมการกกต.จึงเท่ากับเป็นช่องระบาย 1 ของสังคม

บ่งชี้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ “อยากเลือกตั้ง”

ความจริง ตั้งแต่มีการประกาศและบังคับใช้”รัฐธรรมนูญ”เมื่อเดือนเมษายน 2560 สังคมก็เริ่มเกิด “ความหวัง” และนำไปสู่กระแสเรียกร้องต้องการการเลือกตั้ง

จนปรากฏ”กลุ่มอยากเลือกตั้ง”ขึ้นในเดือนมกราคม 2561

 

อาจสรุปได้ว่าการเคลื่อนไหวของ”กลุ่มอยากเลือกตั้ง”เสมอเป็นเพียงหวอดเล็กๆในทางการเมือง

ดำเนินไปในแบบที่เรียกว่า Start Up

แต่ถามว่าประชาชนทั่วไปเรียกร้อง ต้องการต่อ”การเลือกตั้ง”หรือไม่

ตอบได้เลยว่า “อยากเลือกตั้ง”

เพียงแต่ติดด้วยประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.ตั้งแต่ฉบับที่ 57/2557 และฉบับที่ 3/2558 และล่าสุดคือฉบับที่ 53/2560 มาตรึงห้าม

หากเมื่อใดที่มีการยกเลิกประกาศและคำสั่งเหล่านี้ เมื่อนั้นสภาพอันถูกกดทับไว้ก็จะสำแดงตัวตนออกมา

เหตุผลก็เพราะว่าว่างเว้นจาก”การเลือกตั้ง”มานาน

เหตุผลก็เพราะตระหนักมากยิ่งขึ้นว่า สังคมจะดำรงอยู่ในแบบที่เป็นมาหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยไม่มีการเลือกตั้งย่อมเป็นความผิดปกติ

ลักษณะวิปริต ผิดปกติต่างหากที่เริ่มฟ้องความเลวร้ายขึ้น

 

คสช.และรัฐบาลจึงดำรงอยู่บนสภาพแห่งความไม่ปกติในทางสังคมและในทางการเมือง

สิ่งเหล่านี้เริ่มเด่นชัดว่าทางออก คือ “การเลือกตั้ง”

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ประชาชนไทยได้มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 และการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และการห่างเหินการเลือกตั้งหลังจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ความเรียกร้องต้องการ”เลือกตั้ง”จึงเริ่มสู้กระแสสูง