E-DUANG : รูปธรรม แบ่งแยก แล้วปกครอง ท่วงทำนอง ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สถานการณ์การสลายการชุมนุมของชาวจะนะที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล สร้างความมั่นใจเป็นอย่างสูงถึงแนวโน้มของการยุบสภาและการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชาติ ล้วนกระสาต่อกลิ่นในทางการเมือง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ ถึงกับฟันธงว่าจะไม่เกินเดือนมีนาคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สรุปอย่างรวบรัดว่าน่าจะไปไม่ถึงปี 2566

ขณะที่ภายในพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะเป็น นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค มองเห็นน่าจะเป็นต้นปีหน้า

ไฮต์ไลต์อย่างยิ่งของความเชื่อมาจากการเข้าปะทะกันอีกคำรบ หนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

แม้จะมีภาพหวานชื่นจาก”กลุ่ม 3 ป.”ก็เสมอเป็นเพียง”ละคร”

เรื่องจริงอยู่ที่ปัญหาระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อันมีเดิมพันอยู่กับ”เอ็มโอยู”

 

ทั้งๆที่การตกลงโดยพื้นฐานเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำเนินการตามคำบัญชาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างเคร่งครัด

และในเดือนมกราคม 2564 ก็ผ่านกระบวนการรับทราบในที่ประชุมครม.

อันปรากฏเป็นรายละเอียดผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเจ้าของเรื่องในเดือนมกราคม 2564

แต่แล้วเมื่อชาวบ้านมาทวงถามคำมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับออกมาปฏิเสธ”ข้อตกลง”อันปรากฏผ่าน”บันทึกช่วยจำ”

และมอบให้เป็นงานใหม่ของ นายอนุชา นาคาศัย แทน

 

หากดูแต่ละรายชื่อในเส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนเป็นชื่อจากแกนนำของ”กลุ่มสามมิตร”อันมีปัญหาอย่างลึกซึ้งอยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

เป็นการดัน นายอนุชา นาคาศัย ชนกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

นี่คือกระบวนการบริหารจัดการแบบ”แบ่งแยกแล้วปกครอง”ตามสไตล์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นี่คือรากฐานอันเร่งความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด