E-DUANG : ยุทธศาสตร์ การเมือง เพื่อไทย พันธมิตร ชิดใกล้ กับ ก้าวไกล

ไม่ว่าคำว่า”แลนด์สไลด์”อันหลุดออกจากปากของ โทนี่ วู้ดซั่ม ต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2565 หรือในปี 2566

สำหรับพรรคเพื่อไทยมิได้เป็นคำคุยโวอย่างโอ้อวด

โดยพื้นฐานของคำว่า”แลนด์สไลด์”มาจากความมั่นใจในยุทธ ศาสตร์ของพรรคจากระบบการเลือกตั้งที่มี 400 ระบบเขต และ 100 บัญชีรายชื่อ

นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทยส่งครบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทยมีศูนย์กลางเดียว ไม่มีสาขาพรรค ไม่มีการแตกแบงก์ย่อย

นั่นก็คือ เมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็พร้อมปะทะ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์

หรือแม้กระทั่งพรรคก้าวไกลอันถือได้ว่าเป็นพันธมิตรโดยพื้น

ฐานในแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการก็เปี่ยมด้วยความพร้อม

นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทยจิตหนึ่งใจเดียวเพื่อชนะ”การเลือกตั้ง”

 

ความมั่นใจของพรรคเพื่อไทยมิได้เป็นความมั่นใจอย่างเพ้อฝัน เลื่อน ลอย ตรงกันข้าม เป็นความมั่นใจบนพื้นฐานความเป็นจริงที่ได้พิสูจน์แล้วในทางการเมือง

นั่นก็คือ ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 และในเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ยิ่งกว่านั้นเมื่อผ่านการบดขยี้ด้วยกระบวนการรัฐประหารเมื่อ เดือนกันยายน 2549 อันนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย แต่เมื่อเข้า สู่การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ก็ยังกำชัยมาได้

เป็นการกำชัยผ่านกระบวนการของพรรคพลังประชาชน และแม้เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ พรรคเพื่อไทยเกิดขึ้นก็กำชัยอีก

ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยจึงอยู่บน”ชัยชนะ”อย่างต่อเนื่อง

 

คำประกาศของพรรคเพื่อไทยอาจมีนักประชาธิปไตยบางคนเป็นห่วง เกรงว่าจะกระทบต่อกระบวนการของพรรคก้าวไกล เหมือนกับเป็นการเบียดขบกันเองภายในขบวนประชาธิปไตย

หากมองจากพรรคก้าวไกลก็แทบไม่ต้องเป็นห่วงและกังวล

เพราะพรรคก้าวไกลเข้าใจบทบาทและเป้าหมายของพรรคเพื่อ ไทยเป็นอย่างดี เข้าใจในกฎกติกาของการต่อสู้เป็นอย่างดี

ด้านหนึ่งแม้จะต้องสู้กันเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นพันธมิตรกัน