E-DUANG : พลวัตร แห่งการรุก กับ การรับ จากผู้ถูกกระทำ เป็น ผู้กระทำ

ภายในความสลับซับซ้อนทางการเมือง สปอตไลต์อาจฉายจับไปยังภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับภาพของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างเป็นพิเศษ

แรงเร้าอันเปี่ยมด้วยความร้อนรุ่มอย่างเป็นพิเศษมีภาพของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลอยเด่นขึ้นมาด้วย

คำถามก็คือ เป็นการลอยเด่นเข้ามาใน”สถานะ”อย่างไร

หากดูเพียงการถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีอันมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กันยายน เหมือนกับว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะอยู่ในฐานะเป็น”ผู้ถูกกระทำ”

กระนั้น หากดูจากท่าทีและการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาแถลงอย่างมากด้วยอารมณ์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยา ยนก็ไม่แน่เหมือนกันว่าใครกันแน่ที่ถูกกระทำ

ในฐานะที่เป็น”เป้าหมาย”การเคลื่อนไหวบ่อนทำลาย

และเมื่อปรากฏประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีออกมาก็ปรากฏคำตอบอย่างแน่ชัด

เป็นคำตอบที่รวมศูนย์ไปยัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

 

สถานะทางการเมืองไม่ว่าจะมองจากด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองจากด้านของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงดำเนินไปอย่างมีพลวัตในตัวของมันเอง

ช่วงหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อาจเป็นฝ่ายกระทำ แต่อีกช่วงหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อาจเป็นฝ่ายถูกกระทำ

เช่นเดียวกับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเบื้องต้นอาจตกอยู่ในฐานะถูกกระทำจากอีกฝ่าย แต่เมื่อตั้งลำได้ก็สามารถ พลิกสถานการณ์เป็นฝ่ายกระทำตอบโต้

ในเมื่อมีอำนาจของนายกรัฐมนตรีอยู่จึงสามารถฉวยคว้ามาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือและเปลี่ยนสถานะ

เป็นฝ่ายกระทำ เป็นฝ่ายรุกต่ออีกฝ่ายได้อย่างรุนแรง

 

กระนั้น หากติดตามสถานการณ์นับแต่วันที่ 8 กันยายนเป็นต้นมาก็ใช่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ในฐานะรุกกุมโอกาสของฝ่ายกระทำได้อย่างด้านเดียว

ตรงกันข้าม เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามามีส่วนร่วม

คำยืนยันให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคต่อไปมีส่วนในการพลิกสถานการณ์

เท่ากับเป็นการเตือนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้หยุด