E-DUANG : กลยุทธ์ เตะถ่วง หน่วงและซื้อเวลา สถานการณ์ ทวงอำนาจ คืนราษฎร

ในที่สุด จังหวะก้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จังหวะก้าวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จังหวะก้าวของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็กลายเป็นปัจจัยให้กับการเคลื่อนไหวของ”เยาวชนปลดแอก”

ทันทีที่มีความพยายามเตะถ่วงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม”รัฐ ธรรมนูญ” ออกไปด้วยการจัดตั้ง”คณะกรรมาธิการ”เพื่อศึกษา

เป็นการศึกษาก่อนที่จะมีการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับ

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรเคยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา วิธีการและหลักเกณฑ์ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาแล้ว

การจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งจึงเป็นอะไรไม่ได้นอกเสียจากความพยายามในการเตะถ่วง ซื้อเวลา เพื่อทำให้กระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทอดเวลาออกไป

นี่ย่อมเป็นกลยุทธ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สันทัดจัดเจน อย่างเป็นพิเศษ

เป็นกลยุทธ์สุดยอดหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

 

สังคมจดจำบทเพลง”เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา” ซึ่งกระหึ่มอย่างคึกคักในห้วงหลังรัฐ ประหารเดือนพฤษภาคม 2557

จากเดือนพฤษภาคม 2557 กว่าจะได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ในเดือนเมษายน

จากเดือนเมษายน 2560 ที่ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญกว่าจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งก็เมื่อถึงเดือนมีนาคม 2563

ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 มาถึงเดือนมีนาคม 2563 ก็ได้เกิดคำประกาศอันกลายมาเป็น”ปฏิญญา”มากมายหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาโตเกียว ปฏิญญานิวยอร์ค ปฏิญญาทำเนียบขาว

ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนกันยายน 2563 จึงกลายเป็นการสะสมความจัดเจนในการเตะถ่วง หน่วงเวลาทางการเมืองมาเป็นกระบวนท่าหลากหลายอาการ

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็น”นโยบายเร่งด่วน”ก็ตาม

 

การดำเนินกลยุทธ์ในการซื้อเวลาดำเนินไปในท่ามกลางปฏิกิริยาและความรู้สึกของประชาชน จากที่เคยนิ่งเงียบในห้วงหลังรัฐประหารกลายเป็นความไม่พอใจในห้วงหลังการเลือกตั้ง

เกิดเป็น”เยาวชนปลดแอก” เกิดปรากฏการณ์”ทวงอำนาจ คืนราษฎร”อย่างต่อเนื่องและคึกคัก

นี่คือฉากและภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองที่กำลังปรากฏ