E-DUANG : ​การต่อสู้ 2 แนวทาง การเมือง ในกระบวน แก้ “รัฐธรรมนูญ”

ในที่สุด ข้อเรียกร้อง 3 ข้ออันเสนอขึ้นมาจากการชุมนุมของ”เยาวชน ปลดแอก” เมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม บนถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ก็รวมศูนย์ไปยังเป้าหมายของ”รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”อย่างเป็นด้านหลัก

ทำให้เกิดนัยประหวัดไปยังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

ซึ่งมีจุดเริ่มจากคำประกาศของศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2516

เป็นคำประกาศเรียกร้อง”รัฐธรรมนูญ”จากคณะปฏิวัติ

เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวในเดือนเมษายนอันนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกในเวลาต่อมาว่า “พฤษภาเลือด”ในปี 2535 จุดเริ่มต้นก็มาจากรัฐธรรมนูญ

และเมื่อทั้งเมื่อเดือนตุลาคมก็นำไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ และเดือนพฤษภาคมก็นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ต้องการ

เช่นเดียวกับกลิ่นอายแห่ง”รัฐธรรมนูญ”ที่กระหึ่มในปี 2563

 

แรกที่”เยาวชนปลดแอก”นำเสนอข้อเรียกร้อง 1 หยุดคุกคามประชาชน 1 แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 1 ยุบสภาเพื่อมอบโอนอำนาจให้ประชาชนในการเลือกตั้งตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่แก้ไข

บรรดาผู้สันทัดจัดเจนในทางการเมืองรับฟังด้วยอาการอันละล้าละลังมองไม่เห็นลักษณะที่ยึดโยงสัมพันธ์กัน

แต่หลังจากสถานการณ์แฟล็ชม็อบได้กลายเป็นวิถีชีวิตในทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าที่เชียงใหม่ ไม่ว่าที่อุบลราชธานี ไม่ว่าที่ปัตตานี ไม่ว่าที่ราชบุรี สังคมเริ่มมองเห็นความแจ่มชัด

มีการขานรับมากยิ่งขึ้นจากกลุ่มและคณะทางการเมืองต่างๆรวมไปถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านและค่อยๆแทรกซึมเข้าไปยังพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค

กระทั่งในที่สุดแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแสดงเจตจำนงที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

พลันก็เกิดวิถีแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 แนวทางขึ้น

 

แนวทางหนึ่งเป็นแนวทางในแบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งร้อยวันพันปีก็ไม่เคยมีความคิดที่จะแก้ไขเพราะว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

แนวทางหนึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการปรับประสานจากความต้องการของ”เยาวชนปลดแอก”เพื่อให้เป็นรัฐมนตรีที่ขยายวงเพื่อประโยชน์ของประชาธิปไตยและประชาชนมากยิ่งขึ้น

2 แนวทางนี้กำลังขับเคี่ยวว่าหนทางใดจะได้รับชัยชนะในที่สุด