E-DUANG : บทโศลก อันแสนเศร้า น่าเห็นใจ มาพร้อมกับ ผรุสวาจา “ชังชาติ”

ทำไมการปรากฏขึ้นของเหล่า”เยาวชนปลดแอก”นับแต่ตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม จึงได้ก่อให้เกิดความหงุดหงิดกับ”ผู้อาวุโส” จำนวนหนึ่งในสังคม

ที่ปล่อยคำว่าเป็นอาการแห่ง”โรคชังชาติ”ที่ร้ายกาจยิ่งกว่าไวรัส โควิด-19 ก็คือหนึ่งในความหงุดหงิด

เพราะปรากฏการณ์นี้ได้มีส่วนในการทำลาย”โลก”ส่วนหนึ่ง

เป็นโลกที่บรรดาผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ได้ยึดครองและครอบงำมาเป็นเวลานานแสนนาน แต่แล้วเด็กๆจำนวนหนึ่งก็ได้ลุกขึ้นมาและพังจนแหลกเละไม่มีชิ้นดี

รูปธรรมของการชุมนุมในวันนั้นคือการออกจาก”บาทวิถี”ไปอยู่บน “ถนนราชดำเนิน”

ทั้งๆที่มีพรก.บริหารราชการในสถานการณ์”ฉุกเฉิน”

ยิ่งกว่านั้น กระบวนการชุมนุมและข้อเสนอได้รับการขานตอบรวดเร็วยิ่งกว่าไฟลามทุ่งไปในขอบเขตทั่วประเทศ

ตรงนี้ต่างหากที่ได้พังทลาย”ความเชื่อ”เดิมของพวกเขาลง

 

ความโน้มเอียงที่สำคัญที่สุดของคนก็คือ ความโน้มเอียงที่จะรักษาความเชื่อที่ตนได้รับการสั่งสอนและฝังอยู่อย่างยาวนานตั้งแต่หัวดำ กระทั่งหัวหงอก

ไม่เพียงแต่เท่านั้นเมื่อเชื่อแล้วก็พยายามดัดแปลงและทำให้โลกรอบข้างดำเนินไปอย่างที่ตนเองเชื่อ

จึงเมื่อมีคนอีกรุ่นได้ลุกขึ้นร้องตะโกนด้วยเสียงอันดัง

ไม่เพียงแต่เป็นการเปล่งเสียง “ออกไป ออกไป” อย่างพร้อมเพรียงและมากด้วยพลัง หากแต่ยังนำเอาบรรดาเกือบทุกความเชื่อซึ่งตนสั่งสมมาอย่างยาวนานออกมาวิพากษ์โจมตี

การวิพากษ์วิจารณ์นี้หลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 อาจ เคยได้ยินมาบ้าง แต่ก็ถูกกำราบให้เงียบลงในสถานการณ์เดือนตุลา คม 2519

แต่แล้วน้ำเสียงที่แข็งกร้าวห้าวหาญยิ่งกว่ากลับหวนกลับมา

หวนกลับมาไม่เพียงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากแต่ก้องกังวานจากเกือบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศ

 

การหลุดคำว่า”ชังชาติ”ไม่ว่าจะออกมาจากปากของนายทหาร นายตำรวจ นักการเมือง จึงเป็นการร้องครางด้วยความเศร้าอาลัยหาถึงคืนวันอันเลิศแต่หนหลัง

คืนวันซึ่งเพียงแต่เอ่ยว่าเกิดมาก่อนอีกฝ่ายก็ต้องปิดปากเงียบ

เพียงแต่ ณ วันนี้ มิได้งอก่องอขิง ยอมจำนนอีกต่อไปแล้ว